Economies

ค่าเงินบาทเช้านี้ 37.55 บาทต่อดอลลาร์ จับตาถ้อยแถลงเฟด - รอลุ้นผลการประชุม กนง.
26 ก.ย. 2565

เปิดตลาดเช้าวันนี้ค่าเงินบาททรงตัวที่ระดับ  37.55 บาทต่อดอลลาร์ Krungthai Global Market มองกรอบสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.20-37.80 บาท/ดอลลาร์ ตลาดจับตาถ้อยแถลงของเฟด ส่วนไทย ไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการประชุม กนง.


ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  37.55 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า 
 

คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟดเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ ได้กดดันให้ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

 
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด ส่วนในฝั่งไทย ไฮไลท์สำคัญ คือ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

 
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
 

ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยเฉพาะประธานเฟด Powell เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังเฟดได้ส่งสัญญาณเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในสัปดาห์ก่อนหน้า ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ตลาดประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) ในเดือนกันยายน อาจปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 104.3 จุด หนุนโดยการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัว ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไป PCE ในเดือนสิงหาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.0% จาก 6.3% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับลดลงของราคาสินค้าพลังงาน ทว่า เงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน อาจเร่งขึ้นสู่ระดับ 4.7% ทำให้เฟดยังคงจำเป็นต้องเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ โดยที่ไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวหนักหรือถดถอย
 

ฝั่งยุโรป – ตลาดมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปอาจแย่ลงต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ในเดือนกันยายน อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 87 จุด จาก 88.5 จุด สะท้อนความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 6 เดือนข้างหน้าและภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันของภาคธุรกิจ กดดันโดยปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและความกังวลวิกฤตพลังงานยุโรปในช่วงฤดูหนาว ทั้งนี้ เงินเฟ้อทั่วไป CPI ของยูโรโซน ในเดือนกันยายน อาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 9.7% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาอาหารและพลังงานเป็นหลัก ซึ่งระดับเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงมาก จะยิ่งหนุนโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% สู่ระดับ 1.50% ในการประชุมเดือนตุลาคม เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ
 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะในภาคการบริการอาจเริ่มดีขึ้น หลังรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ สะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายนที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 33.5 จุด ซึ่งจะสอดคล้องกับการกลับมาขยายตัวของภาคการบริการ ชี้โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Services PMI) เดือนกันยายนที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.5 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ส่วนในฝั่งจีน โมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นชัดเจน เนื่องจากภาคการบริการยังคงเผชิญแรงกดดันจากมาตรการ Lockdown ในหลายพื้นที่ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจชะลอลงสู่ระดับ 52.3 จุด อย่างไรก็ดี อานิสงส์ของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาล อาจช่วยหนุนให้ภาคการผลิตของจีนพลิกกลับมาขยายตัวได้ในเดือนกันยายน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.1 จุด ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางอินเดีย (RBI) จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 5.90% เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ และลดแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินรูปี (INR) ที่อาจสร้างปัญหาเงินเฟ้อต่อเนื่อง หาก INR อ่อนค่าทะลุระดับ 80 รูปีต่อดอลลาร์ ไปมาก
 

ฝั่งไทย – ตลาดประเมินว่าดุลการค้าของไทยในเดือนสิงหาคมอาจขาดดุลน้อยลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงาน ทำให้ยอดการนำเข้าโตราว 18%y/y ส่วนยอดการส่งออกยังโตได้ราว +7%y/y ซึ่งหากดุลการค้าขาดดุลน้อยกว่าคาด อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยเราคาดว่า กนง. อาจขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป 0.25% สู่ระดับ 1.00% เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทว่า อาจมีกรรมการ 1-2 ท่านที่อาจสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 0.50% ด้วยเหตุผล เช่น เพื่อลดแรงกดดันต่อเงินบาทจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และเศรษฐกิจก็มีโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะผู้เล่นต่างชาติ รวมถึง นักวิเคราะห์บางส่วนต่างคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ หาก กนง. ไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวัง  
 
 
 
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ทั้งนี้ ควรระวังแรงขายเงินบาทในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม กนง. หาก กนง. ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยหากแรงขายสินทรัพย์ไทยเริ่มลดลงก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ อนึ่ง เราประเมินแนวต้านเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าวจะเปิดโอกาสการอ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ในระยะสั้นนี้
 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราคาดและเราคาดว่าโมเมนตัมเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่ จากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) รวมถึงแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินฝั่งยุโรป (EUR & GBP) ท่ามกลางความกังวลทั้งปัญหาการเมืองอิตาลี รวมถึงวิกฤตพลังงานในยุโรปและความเสี่ยงเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนัก 
 

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 37.20-37.80 บาท/ดอลลาร์
 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.45-37.65 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com