KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) แนะกลยุทธ์ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทน และกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุนในช่วงเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย เผยการลงทุนทางเลือกได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงในไทยเกือบ 30% มีแผนเพิ่มน้ำหนักการลงทุน ด้านธนาคาร เตรียมเดินหน้านำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือกที่หลากหลายต่อเนื่อง เช่น กองทุนทางเลือก, หุ้นนอกตลาด, อสังหาริมทรัพย์นอกตลาด, กองทุนให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ และหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง ชูผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีโดดเด่น
ดร.ตรีพล ภูมิวสนะ ไพรเวท แบงกิ้ง บิซิเนส เฮด ไพรเวท แบงกิ้ง กรุ๊ป ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดทุนตลอดทั้งปี 2565 มีความผันผวนต่อเนื่อง โดยผลตอบแทนในเกือบทุกสินทรัพย์หลักลดลงแรง และดัชนี MSCI World ปรับลดลงไปแล้วถึง 20% ยิ่งไปกว่านั้น ปีนี้ยังเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 30 ปีที่ผลตอบแทนในหุ้นและตราสารหนี้ปรับลดลงพร้อมกัน และเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองสินทรัพย์ปรับลดลงมากถึง 20% การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ KBank Private Banking แนะนำแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้แก่พอร์ตการลงทุน
"ปีนี้ถือว่าตลาดทำผลตอบแทนได้ยากที่สุด ตั้งแต่ผมทำงานมา 20 ปี เพิ่งเห็นตลาดตราสารหนี้ติดลบในรอบ 10 ปี และปีนี้ ลูกค้าก็กอดเงินสดกันมากขึ้น ตัวเลขที่เห็นเพิ่มราว 4-5%จากพอร์ตรวมของเค ไพรเวท แบงกิ้ง ณ สิ้นปีก่อน ซึ่งมาจากส่วนของการขายทำกำไรและขายลดความเสี่ยงโดยเฉพาะสินทรัพย์หุ้น เราจะแนะลูกค้าให้ลดหุ้นและตราสารหนี้ หันมากระจายลงทุนด้วยการถือ Alternative Asset (สินทรัพย์ทางเลือก) เพิ่มราวสัดส่วน 20%ของพอรืตทั้งหมด รวมถึงการถือเฮดจ์ฟันด์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้พอร์ตมีเสถียรภาพและผลตอบแทนเติบโตในะระยะยาวไม่ต่ำกว่า 5 ปีขึ้น ทั้งนี้ Core Port (พอร์ตหลัก) ยังถือสัดส่วน 50% อยู่ ขณะที่สัดส่วนการถือเงินสดราว 8-15%จากปีปกติจะเห็นลูกค้าลงทุนเต็มพอร์ตกัน " ดร. ตรีพลกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน เค ไพรเวท แบงกิ้ง มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 13,000 ราย เพิ่มขึ้น 5%จากสิ้นปีก่อน มูลค่าสินทรัพย์ที่บริหาร (AUM)รวมทั้งหมดราวกว่า 9 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่ขยายรุ่นลูกรุ่นหลานเข้ามาลงทุน และกลุ่มผู้มีรายได้สูงขึ้น โดยพอร์ตลูกค้าจะมีสินทรัพย์และเงินฝากตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป
ปัจจุบันสินทรัพย์ทางเลือกได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากนักลงทุน ผลการสำรวจล่าสุดโดย Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา ความผันผวนของตลาดทุนซึ่งอาจนำไปสู่ผลตอบแทนที่เป็นลบเป็นความกังวลลำดับแรกของลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงในประเทศไทย โดยกว่า 50%ได้ปรับพอร์ตการลงทุนของตน โดยใช้บริการหรือรับคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านการลงทุน และเกือบ 30% มีแผนที่จะลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้
ดังนั้น ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน KBank Private Banking มุ่งมั่นนำเสนอนวัตกรรมการลงทุนทางเลือกใหม่ๆ โดยให้ความสำคัญกับตัวเลือกที่หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันไปของลูกค้า เช่น ความเสี่ยงและระยะเวลาในการลงทุน สินทรัพย์ทางเลือกที่แนะนำประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ 6 ประเภท ดังนี้
1. กองทุนทางเลือกที่กลยุทธ์ลงทุนยืดหยุ่น (Quantitative Hedge Fund) ลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย และมุ่งสร้างผลตอบแทนเป็นบวกในทุกสภาพตลาด ที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้นำเสนอกองทุน ASP-LEGACY-UI ซึ่งมีจุดเด่นคือกลยุทธ์ในการจับสัญญาณการซื้อขายรายวินาทีด้วยอัลกอริทึม ทำให้มีผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงที่โดดเด่น
2. กองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วโลก (Global Private Equity Fund) เป็นผลิตภัณฑ์สินทรัพย์ทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความผันผวนด้านราคาต่ำ สำหรับกองทุน K-GPE19A-UI และ K-GTPE20A-UI ที่ KBank Private Banking แนะนำแก่ลูกค้า สามารถสร้างผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนได้สูงถึง 47.83% (**ผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนจนถึงปัจจุบัน ณ 30 ก.ย. 2565) และ 25.67% ** ตามลำดับ และล่าสุดกองทุน K-GPE22B-UI ซึ่งมีจุดเด่นคือการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรมกว่า 50 ธุรกิจ โดยหลังจากการเสนอขายครั้งแรกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นกองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วโลกกองทุนแรกในประเทศไทยที่สามารถระดมเงินทุนได้หลักพันล้านบาท
3. กองทุนอสังหาริมทรัพย์นอกตลาดทั่วโลก (Global Private Real Estate Fund) เป็นประเภทสินทรัพย์ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคงจากโอกาสในการรับผลตอบแทนในรูปแบบค่าเช่าที่สม่ำเสมอ ที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้นำเสนอกองทุน UGREF-UI ซึ่งลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรงกว่า 9,000 โครงการ และรายได้จากผู้เช่าที่มีคุณภาพกว่า 30,000 ราย และมีการกระจายการลงทุนทั้งกลุ่มโรงงาน รีเทล และที่อยู่อาศัย โดยกองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีที่ 8.33% (วันที่ 30 กันยายน 2565)
4. กองทุนระดมเงินลงทุนเพื่อให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ โดยไม่ผ่านสถาบันการเงิน (Private Credit Fund) เป็นการให้สินเชื่อโดยตรงแก่ภาคธุรกิจ เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยจุดเด่นในการให้สินเชื่อโดยตรงลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Floating rate) ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะให้ผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป สำหรับ KBank Private Banking ได้ร่วมกับ Lombard Odier ในการแนะนำกองทุนประเภทนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเตรียมเสนอขายครั้งแรกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
5. อสังหาริมทรัพย์ไทยนอกตลาด (Thai Private Real Estate) เป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นอกตลาด หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาด เช่น อาคารสำนักงาน ไฟฟ้า และโทรคมนาคม ในประเทศไทย
6. หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงแบบ Knock-In Knock-Out (KIKO) เป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ และสามารถให้ผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยรายเดือนที่สม่ำเสมอ นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถเลือกอ้างอิงผลตอบแทนได้ทั้งตะกร้าหุ้นไทย หรือหุ้นต่างประเทศ ที่ผ่านมา กองทุนที่ KBank Private Banking แนะนำสามารถให้ผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ยสูงถึง 11-13% ต่อปี
“ในสภาวะที่เงินเฟ้อได้กลายเป็นปัญหาระยะยาว และเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2566 การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกจะมีความสำคัญยิ่งขึ้นในการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทน ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีตัวเลือกที่หลากหลาย เหมาะกับเป้าหมายของนักลงทุนที่แตกต่างกันไป โดย KBank Private Banking ยังคงมุ่งมั่นที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์ทางเลือกการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ และสอดคล้องไปกับธีมการลงทุนแห่งอนาคต เพื่อเป็นทางรอดให้กับนักลงทุนต่อไป” ดร.ตรีพล กล่าวปิดท้าย