แบงก์ชาติ เผยเศรษฐกิจเดือน พ.ย. เปิดประเทศปรับตัวดีขึ้นทุกด้าน ทั้งการส่งออก - ใช้จ่ายในประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ‘โรงแรม ร้านอาหาร’มียอดขายดีขึ้น ติดตามความเสี่ยง “Omicron” ลากถึงไตรมาสแรกปี 65
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา มีทิศทางปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเครื่องชี้บริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจามสถานการณ์การระบาดในประเทศที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และแรงกระตุ้นจากมาตรการภาครัฐ ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 91,255 คน ซึ่งยังไม่มากนัก หลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564 เนื่องจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่
ในส่วนของภาคการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น เป็นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า รวมถึงปัญหา supply disruption ที่ทยอยคลี่คลายลงแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้าตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ประกอบกับภาคการผลิตกลับมาดำเนินการได้ตามปกติหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ทำให้มีการเร่งส่งออกตามคำสั่งซื้อที่คงค้างอยู่ในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนตามการนำเข้าเชื้อเพลิง รวมทั้งสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ลดลง อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการนำเข้าวัตถุดิบที่ไม่รวมเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศและภาคการผลิตที่ทยอยฟื้นตัว
โดยภาพรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามภาวะ
อุปสงค์ที่ฟื้นตัว ประกอบกับปัญหา supply disruption อาทิ การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ และปัญหา
การขนส่งสินค้าคลี่คลายลงบ้าง การลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น มาจากการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง สอดคล้องกับภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นของธุรกิจที่ทยอยฟื้นตัว
“การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่ดีขึ้นและฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และรายได้ของครัวเรือนก็ฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการภาครัฐในรูปแบบเงินโอนยังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐ ยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นางสาวชญาณีกล่าว
ทั้งนี้ ในเดือน พ.ย. การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเป็นผลจากฐานสูงในปีก่อนที่มีการเร่งเบิกจ่ายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2564 ประกาศใช้ อย่างไรก็ดี การเบิกจ่ายภาครัฐในเดือนนี้ยังทำได้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2562
นางสาวชญาวดี กล่าววา ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย 300 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น ทำให้ภาพรวม 9 เดือนขาดดุล 9.5 พันล้านดอลลาร์
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็มีการอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อโควิดสายพันธุ์ Omicron และแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในประเทศอุตสาหกรรมหลัก
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนธ.ค. 2564 นางสาวชญาวดี กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยปรับดีขึ้น แต่ยังต้องติดตาม 1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron 2. ปัญหา supply disruption disruption ทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ ชิ้นส่วนการผลิต และตู้คอนเทนเนอร์ และ 3. ราคาพลังงานที่อยู่ระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ เห็นการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องในหลายภาคธุรกิจ อาทิ โรงแรมและร้านอาหาร ยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การขนส่งสินค้าและการขนส่งโดยสาร ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการผลิตและการค้ามีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เช่น ตลาดส่งออกมาจากคำสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ที่เป็นผลมาจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ยอดขายรถยนต์ที่มีโปรโมชั่น ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างอยู่ระดับทรงตัว ที่ฟื้นตัวช้า อีกทั้งราคาวัสดุก่อสร้างแงพงขึ้นและการขาดแคลนแรงงาน
“ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ Omicron จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่เปราะบาง การออกมาตรการที่เข้มงวด การปิดประเทศ การลดกิจกรรมนอกบ้าน นักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงคำสั่งซื้อต่างประเทศที่อาจจะลดลง ซึ่งผลกระทบในเดือนธันวาคมนี้ยังไม่มาก แต่อาจจะลากยาวไปถึงไตรมาสแรกปีหน้า อย่างไรก็ตาม จากที่ ธปท. คาดเศรษฐกิจ ปี 2565 ขยายตัว 3.4% ได้ประเมินผลกระทบจากโควิดไว้แล้ว นางสาวชญาวดีกล่าว