Economies

ธ.ทิสโก้เชียร์ซื้อ ! กองทุนหุ้นเอเชีย – เฮลธ์แคร์  พร้อมปรับพอร์ตขายหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น 
7 มี.ค. 2567

ธนาคารทิสโก้เชียร์ปรับพอร์ตเพิ่มน้ำหนักกองทุนหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น และกองทุนหุ้นเฮลธ์แคร์ เพราะราคามีส่วนลด (Discount) แต่กำไรยังเติบโตสูง และยังคงคำแนะนำซื้อ ! กองทุนตราสารหนี้โลก (Global Bond) และกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global REITs) เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนช่วงดอกเบี้ยพลิกตัวเป็นขาลง พร้อมแนะนำขายหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น หลังมูลค่าเริ่มตึงตัว

 

นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงเดือนมีนาคม ธนาคารทิสโก้ยังคงแนะนำให้ลูกค้าเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสสร้างกำไรในช่วงดอกเบี้ยพลิกตัวเป็นขาลง คือ กองทุนตราสารหนี้โลก (Global Bond) และกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก (Global REITs)  นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคายังมีส่วนลด (Discount) และกำไรยังคงเติบโตดี 2 กลุ่ม คือ 1. กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในกลุ่มตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น (Asia Ex Japan) และ 2. กองทุนหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์(Healthcare) พร้อมแนะนำให้ลดน้ำหนักหุ้นหรือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (Developed markets) ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เนื่องจากมูลค่าหุ้นเริ่มตึงตัว ขณะที่หุ้นยุโรปยังมีปัจจัยกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวมากกว่าภูมิภาคอื่น 

 

“ในปี 2567 ตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นมีความโดดเด่น ทั้งภาพของเศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่ง Bloomberg คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 4.7% ในขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะเติบโตที่ 2.7% และสหรัฐฯ ยุโรปมีแนวโน้มจะเติบโตเพียง 1.6% , 0.9% ตามลำดับสาเหตุที่ทำให้ประเทศในกลุ่มเอเชียยังคงเติบโตสูง เนื่องจาก ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่มีความต้องการสูง อย่าง Semiconductors, Electric vehicles ที่ฝั่งเอเชียมีสัดส่วนราว 60-70% ของการผลิตทั้งโลก” นาย  ณัฐกฤติกล่าว 

 

ทั้งนี้ ในแง่ของมูลค่าของตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น พบว่ายังซื้อขายที่ระดับอัตราส่วนราคาต่อกำไรอนาคต (Forward PER) ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ โดยราคาหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นซื้อขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต มีส่วนลด (Discount) อยู่ราว 12% เมื่อเทียบกับราคาของหุ้นโลก (MSCI ACWI) ในรอบ 10 ปี และเป็นระดับใกล้เคียงกับช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด Covid-19 ในปี 2563 แต่คาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของหุ้นกลุ่มนี้ในปี 2567 จะเติบโตสูงถึง 19% ขณะที่หุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่กำลังทำจุดสูงสุดใหม่พบว่ามีการซื้อขายที่ระดับราคาสูงกว่า(Premium) ค่าเฉลี่ย เมื่อเทียบกับ MSCI ACWI ถึง 5% และ 15% ตามลำดับ ทำให้โอกาสการปรับขึ้น (Upside) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และญี่ปุ่น เริ่มปรับตัวขึ้นได้จำกัด  จึงมีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนจะกระจายการลงทุนมายังตลาดเอเชียที่ยังมี Upside ที่มากกว่า 

 

นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ธนาคารทิสโก้ยังแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุนหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ (Healthcare) เพราะผลประกอบการมักจะไม่ผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจ เป็นกลุ่มสินค้าและบริการที่มีความต้องการในการใช้งานอยู่ในระดับสูงและเติบโตตามเมกะเทรนด์ของโลก โดยที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ราคายังปรับขึ้นน้อย (Laggard) และซื้อขายต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์มีส่วนลด(Discount) อยู่ราว 10% เมื่อเทียบกับราคาของหุ้นโลก (MSCI ACWI) ในรอบ 10 ปี  โดย Bloomberg ประเมินว่า EPS ของดัชนี MSCI World Healthcare ในปี 2567 จะเติบโตได้ถึง 8.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) สูงกว่าตลาดหุ้นโลกที่เติบโตเพียง 5.5% YoY เท่านั้น 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตมาจากการพัฒนายาที่รวดเร็วมากกว่าในอดีต ทำให้เห็นยารูปแบบใหม่ที่มีความต้องการของตลาดสูง เช่น ยาลดน้ำหนัก GLP-1, ยารักษามะเร็ง (ADC’s) และยารักษาโรคอัลไซเมอร์ เข้ามาหนุนการเติบโตระยะยาว โดยเฉพาะยาลดน้ำหนัก GLP-1 ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเติบโตกว่า 4 เท่าในช่วงปี 2567 – 2573รวมถึงภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นส่งผลให้บริษัทยาขนาดใหญ่จะทำการควบรวมกิจการ(M&A) เพิ่มขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวในช่วงปี 2564 – 2565 ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญของการฟื้นตัวราคาหุ้น โดยกลุ่มที่โดดเด่นได้แก่ กลุ่มยาชีวภาพ (Biotech) ที่มีนวัตกรรมยารักษาโรคออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะขึ้นแรงหากได้รับการเข้าซื้อกิจการจากบริษัทขนาดใหญ่ด้วย 

 

นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่า เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีในทุกสินทรัพย์ที่ธนาคารทิสโก้แนะนำ ลูกค้าควรเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเชิงรุก (Active) เพราะผู้จัดการกองทุนสามารถปรับเพิ่มหรือลดน้ำหนักหุ้นได้ยืดหยุ่นมากกว่ากองทุนที่เป็นเชิงรับ (Passive) ที่ต้องลงทุนตามน้ำหนักของดัชนีอ้างอิง เพราะในดัชนีอ้างอิงอาจจะมีหุ้นเติบโตต่ำแฝงตัวอยู่ การเลือกกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเชิงรุกจะช่วยหลีกเลี่ยงหุ้นเติบโตต่ำและไปเพิ่มน้ำหนักหุ้นที่เติบโตได้มากกว่าได้

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com