เงินบาท"แข็งค่าขึ้น” เปิดเช้านี้ 35.48 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS คาดวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.70 บาท/ดอลลาร์ แนะระวังความผันผวนช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลประชุม BOE และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.63 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.48-35.69 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง พร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการส่งสัญญาณของประธานเฟดในช่วง Press Conference ที่ระบุว่า การลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนกันยายนนั้น อาจเกิดขึ้นได้ หากแนวโน้มการชะลอลงของทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมา ยังคงดำเนินต่อไป โดยมุมมองดังกล่าวของประธานเฟดยังคงทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดมีโอกาสราว 78% ที่จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด) นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ต้นสัปดาห์แถว 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามจังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (นอกจากนี้ ราคาทองคำก็ยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้นในช่วงนี้)
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวขึ้น นำโดย Nvidia +12.8% ซึ่งได้อานิสงส์จากการรายงานคาดการณ์ยอดขายชิป AI ของ AMD +4.4% (คู่แข่ง Nvidia) ที่มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากผลการประชุมเฟดล่าสุด ที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.64%% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.58%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.80% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย ASML +5.6% จากรายงานข่าวว่า ASML อาจได้รับการยกเว้นจากข้อจำกัดของทางการสหรัฐฯ ในการส่งออกชิปไปยังจีน
ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง และ เฟดก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด ทว่า ท่าทีของประธานเฟดที่ดูเหมือนจะส่งสัญญาณว่า เฟดก็พร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนกันยายน ก็ทำให้ผู้เล่นต่างยังคงคาดหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.05% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่าระดับ 4% ได้อย่างชัดเจน หลังตลาดได้รับรู้แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดราว 3 ครั้งในปีนี้ ไปพอสมควรแล้ว และมีโอกาสที่อาจเห็นการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้บ้าง หากตลาดเริ่มกลับมากังวลประเด็นการเมืองสหรัฐฯ หรือ ปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งเราคงมองว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ก็อาจเปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อได้เช่นกัน (Risk-Reward ยังดูมีความคุ้มค่าอยู่)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามท่าทีของประธานเฟดที่ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนได้ หากแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 104 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังพอได้แรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้นในช่วงนี้ และได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนของประธานเฟด ทำให้โดยรวมราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,490 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า BOE อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง -25bps สู่ระดับ 5.00% และอาจส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องได้ ในการประชุมที่เหลือของปีนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงได้บ้าง
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกรกฎาคม โดยเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสำคัญกับ รายงานภาวะการจ้างงานในภาคการผลิต จากรายงานดัชนี PMI ดังกล่าว เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ (Amazon และ Apple) จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทนั้นมีกำลังมากกว่าที่เราประเมินไว้มาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการทยอยปิดสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่า) หรือ Stop Loss ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน หลังเงินบาทได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ที่เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผลการประชุม BOJ มีความ Hawkish มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ (BOJ ขึ้นดอกเบี้ย และลดปริมาณการซื้อบอนด์ พร้อมส่งสัญญาณ อาจขึ้นดอกเบี้ยได้เพิ่มเติม) นอกจากนี้ ผลการประชุมเฟดและถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด ก็ยังส่งสัญญาณว่า เฟดมีโอกาสที่จะเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนกันยายน ทำให้ เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ อาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังตลาดได้รับรู้และคาดหวัง แนวโน้มการลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งของเฟดในปีนี้ ไปมากแล้ว และหากการประชุม BOE ในวันนี้ มีการลดดอกเบี้ยจริงตามคาด อีกทั้ง BOE ก็ส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ก็อาจกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลง และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ทำให้เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงแถวโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ แต่หากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนดังกล่าวชัดเจน ก็อาจแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับ 35.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ซึ่งเรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงนี้ ในเชิงเทคนิคัลอาจทำให้เงินบาท (USDTHB) เข้าสู่โซน RSI Oversold ทำให้มีโอกาสที่อาจเห็นการกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้างของเงินบาทในระยะสั้น หากตลาดรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม
อนึ่ง จากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เราประเมินใหม่ว่า แนวต้านของเงินบาทอาจขยับลงมาแถวโซน 35.85 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซนแนวต้านถัดไปแถว 36.00 บาทต่อดอลลาร์
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.70 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)