ผู้ว่า ธปท. ประกาศปรับโหมดเน้นใช้นโยบารการเงิน สร้างเศรษฐกิจไทยให้มี resilience รับมือช็อคที่จะมา เผย IMF แนะทำ 4 อย่าง ฝ่าโลกเสี่ยงเยอะขึ้น มองผลกระทบยากขึ้น ชี้เศรษฐกิจไทยโดยรวมดี แต่ยังชะล่าใจไม่ได้ หวั่น "ขาดดุลการคลัง " ฉุดไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตประเทศ
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ฉายภาพต่อมุมมองการดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ในงานพบสื่อมวลขน ว่า ถ้าดูโลกตอนนี้ ยอมรับว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในการประชุม IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) และธนาคารโลก ที่ผ่านมา มีถ้อยคำพูดถึงเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวค่อนข้างช้าและไม่ค่อยทั่วถึง แต่อันที่ชัด คือ IMF มองว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลาง เฉลี่ยอยู่ที่ 3% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 30 ปี ทำให้ภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจึงดูไม่ได้สวยหรูนัก ที่สำคัญตอนนี้ยังมีความชัดเจนเรื่องความเสี่ยงโผล่ขึ้นมาค่อนข้างมาก ซึ่งโลกกำลังจับตาความเสี่ยงเรื่องของจีนที่เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งนอกจากเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีความเสี่ยงอื่นๆที่พูดถึงกันมากเป็นความเสี่ยงใหม่ๆที่ไม่เคยเจอมาก่อน เช่น เรื่องของ Supply Chain ต่างๆ และ Geopolitics ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่แยกจากกัน กระทบการค้าโลก
IMF แนะทำ 4 อย่าง ฝ่าความเสี่ยงใหม่ๆที่เยอะขึ้น มองผลกระทบยากขึ้น
"ตัวหนึ่งที่ผมค่อนข้างห่วงและเป็นความเสี่ยงอันใหม่ คือ ปัญหาในตะวันออกกลาง ซึ่งประเมินผลกระทบและความเสี่ยงยากมากๆ เพราะว่า ผลข้างเคียงที่เราคำนึงถึง คิดไม่ออก มันจะมีเยอะ ซึ่ง ณ ตอนนี้เรานั่งมองให้ตาย ก็มองไม่ออกว่าคืออะไร แต่ว่า เหตุการณ์นี้มันทำให้มีความเสี่ยงในของที่ไม่นึกว่าจะเกิดขึ้น มันสามารถจะเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเกิดเหตุการณ์ 9-11 ตอนนั้นคนประเมินว่า ผลจะไปกระทบกับเรื่องการท่องเที่ยวในอเมริกา คนจะไม่กล้าขึ้นเครื่องบิน กระทบความเชื่อมั่นของการลงทุน แต่นั่นสุดท้ายก็ไม่ใช่ประเด็นเลย เพราะเหตุการณ์ 9-11 ได้นำไปสู่เรื่องการตอบโต้ อเมริกาไปบุกอิรัก ซึ่งการบุกอิรัก ก็นำไปสู่อะไรสารพัดต่างๆต่อกันมา เช่นเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางตอนนี้ ผมเกรงว่าจะมีผลข้างเคียงที่เรานึกไม่ออก คิดไม่ถึง บางทีผมก็เห็นนักวิเคราะห์รายงานในสื่อเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์ในอิสราเอล คือไปดูว่าไทยส่งออกอิสราเอลเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวอิสราเอลมาไทยเท่าไหร่ ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็นเลย ประเด็นมันคือ ของที่มันเป็นต่อๆกันมาที่มันลามไปจุดตรงโน้นตรงนี้ต่อเนื่องต่างหาก ประเด็นจึงเป็น Geopolitics risk ที่มีสูงขึ้น ซึ่งคงเป็นที่มาในเวทีโลกต่างๆ จะเน้นเรื่องของเสถียรภาพเป็นตัวหลัก เรื่องเสถียรภาพกลับมาเป็นพระเอกอีกทีนึง "
ถ้าดูคำแนะนำของ IMF ออกมาบอกว่า นโยบายของแต่ละประเทศควรทำอะไร ซึ่งมี 4 เรื่อง ได้แก่
ข้อที่ 1 การที่ต้องเอาเงินเฟ้อกลับเข้ามาสู่กรอบให้ได้ ต้องพยายามทำให้คาดการณ์เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เป็นอยู่ เพราะถ้าเหตุการณ์ในตะวันออกกลางมีปัญหาอาจทำให้เกิด inflation shock ขึ้นอีก ราคาน้ำมันหรืออะไรต่างๆผันผวน แล้วที่เราพยายามสู้มาอย่างเช่น ดึงเงินเฟ้อลงมา ก็จะกลายเป็นพลิกกลับมาอีก จึงต้องให้ความสำคัญการดึงเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบฯต่างๆ
ข้อที่ 2 พยายามสร้างกันชน (buffer) ด้านการคลัง คือ ต้อง consolidate ด้านการคลัง จากที่ผ่านมากระตุ้นการคลังไว้เยอะ ตอนนี้เขาแนะนำว่า ควรอยู่ในโหมด consolidate หรือพูดง่ายๆ คือ ลดรายจ่ายให้น้อยลง ลดหนี้ต่างๆ พยายามหารายได้ต่างๆ ทำให้การขาดดุลน้อยลง เพื่อเตรียมรับมือ shock ต่างๆ
ข้อที่ 3 ให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งสถานการณ์ในต่างประเทศจะแตกต่างจากของเรา (ประเทศไทย) ที่เป็นห่วงเรื่องภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะพวกแบงก์ และนอนแบงก์ จะมีบทบาทมากในต่างประเทศ แต่สำหรับไทย เรื่องอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง ซึ่งประเด็นสำคัญคือการดูแลเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน
ข้อที่ 4 เรื่องการใส่ใจปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว ต้องหาวิธีที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth) และการปฏิรูปโครงสร้าง (structure reform) เช่น ดิจิทัล Green เป็นต้น
เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ แต่ยังมี "จุดอ่อน" ที่ทำให้ชะล่าใจไม่ได้
"ถ้าถามว่าไทยเป็นยังไง ในมุมของ ‘เสถียรภาพ’ ของไทยก็ต้องบอกว่าโดยรวมโอเค แต่ชะล่าใจไม่ได้ เพราะมีบางตัวเลข(ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ)บางตัวมั่นใจว่าค่อนข้างโอเค เช่น เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ทุนสำรองฯมีเพียงพอ ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลในปีนี้และปีหน้า หนี้ต่างประเทศก็ไม่ได้เยอะ ฝั่งระบบของธนาคารพาณิชย์ไทยในแง่ทุน งบดุลก็เข้มแข็ง"
แต่มีบางตัวเลขที่โอเคน้อยหน่อย อันแรกคือ หนี้ครัวเรือนที่ตอนนี้มีสัดส่วน 90.7%ของ GDP แม้จะลงมาจากสูงสุดที่ 94% แม้ตอนนี้ลงมาหน่อยแต่ก็สูงเกินไป เราอยากให้หนี้ครัวเรือนลงมาใกล้เคียงกลับสู่ระดับปกติ ซึ่งเกณฑ์ต่างประเทศพูดกันอยู่ที่ประมาณ 80%ของ GDP อีกจุดหนึ่งที่ดูสูงและโอเคน้อย คือ หนี้สาธารณะและการคลัง หนี้สาธารณะตอนนี้ 61.7% ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดที่เคยมีมา สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ผมจำตอนปี 2540 หนี้สาธารณะวิ่งไปถึง 60%ของ GDP แต่ถ้าเทียบหนี้สาธารณะตอนนี้กับช่วงก่อนโควิดที่อยู่ 40%กว่า ถือว่าตอนนี้ขึ้นมาค่อนข้างเร็ว ทำให้ตัวนี้ในแง่เสถียรภาพเป็นอีกตัวที่ไม่ค่อยโอเค
อันที่สองที่สะท้อนเรื่องเสถียรภาพ ที่จะชะล่าใจไม่ได้ คือ ตลาด Market reaction เริ่มมีสัญญาณความกังวล ถ้าดู portfolio flow ในปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้มี outflow ไหลออกไปแล้ว 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลออกจากทั้งตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ และสวนทางกับประเทศอื่นที่เงินไหลเข้า อย่างเกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย แต่เราเป็นประเทศเดียวในกลุ่มนี้ที่เห็น outflow สะท้อนความกังวลที่มีอยู่ และ 8.4 พันล้านดอลลาร์ฯ ถือเป็นระดับที่สูงเป็นอันดับที่ 2 เทียบกับในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปีหนึ่งไทยเคยเจอ outflow 10 พันล้านดอลลาร์ฯ
นอกจากเรื่อง outflow เรายังเห็นความผันผวนเรื่องค่าเงิน ตอนนี้ความผันผวนค่าเงินบาทอยู่ที่ 8-9% รองจากแค่เกาหลีใต้ ซึ่งปกติตัวที่ผันผวนเยอะจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี แต่ตอนนี้ไทยขึ้่นมาใกล้เคียงเกาหลี ถือว่าไทยสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและคู่เทียบต่างๆ อีกทั้งยังสูงเมื่อเทียบกับในอดีต แม้ว่าจะไม่ได้สูงสุด เพราะตอนเกิดเรื่องSVB (Silicon Valley Bank) เคยพีคไปที่ 12% แต่ตัวนี้ เป็นตัวที่โชว์เรื่องความกังวลของตลาด และ CDS (Credit Default Swap) ตัวสเปรดที่คนซื้อประกันบนบอนด์ที่ไทยออกไป ที่คนจะมองว่า CDS เป็นตัวสะท้อนว่าประเทศนั้นๆมีความเสี่ยงหรือไม่ ที่ผ่านมามันวิ่งจากประมาณ 50 Bps วิ่งมาอยู่ที่ประมาณ 70 Bps ก็ขึ้นมาแม้ไม่ได้สูงสุด เพราะเคยสูงกว่านี้ในช่วงโควิดที่วิ่งไปเกือบ 100 Bps แต่ก็โชว์มีสัญญาณของความกังวล
หวั่นจุดเสี่ยง down grade ประเทศไทย จะมาจากเรื่องขาดดุลการคลัง
"อย่างที่ย้ำว่า โดยรวมเสถียรภาพของไทยโอเค แต่ยังชะล่าใจไม่ได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณต่างๆ เห็นจากตัวเลข เห็นจาก re-action ของตลาด และ re-action ของเครดิตเรตติ้งเอเจนซี่ เขาเขียนค่อนข้างชัด ไม่ว่าจะเป็น Fitch Ratings (Fitch) Moody's และ S&P บอกจุดแข็งของเราคืออะไร เช่น กรอบมหภาคค่อนข้างดี ไม่มีปัญหา เรื่องต่างประเทศโอเค แต่สิ่งที่เขากังวลหลักๆที่พูดความจริงและจี้ คือ ถ้า signal ตัวนี้มันเสื่อม ก็จะเป็นโอกาสที่เขาจะปรับเรตติ้ง โดยปกติแล้ว เขาไม่ปรับเรตติ้งทันที เขาจะปรับ Outlook ก่อน และของเรานั้น ตอนนี้แต่ละแห่งมองว่า เราเป็น Stable Outlook หรือมีเสถียรภาพ แต่ถ้ามีอะไรที่เสื่อม ก็มีโอกาสที่เขาจะ down grade จาก Stable เป็น Negative outlook ได้ แล้วที่เขาบอกว่าตัวที่เป็น trigger for possible downgrade หลักๆที่เขาชี้นั่นก็คือ เรื่องของการคลัง คล้ายๆกับสิ่งที่ IMF อยากเห็น คือ ภาพ fiscal consolidation อยากเห็นการขาดดุลการคลังลดลง ถ้าภาพตรงนี้หายไปก็เป็นตัวที่เขากังวล"
สรุปก็คือ เรื่องเสถียรภาพไทยยังโอเคอยู่ แต่ชะล่าใจไม่ได้ ซึ่งเดิม ตลอดมาเขาจะเห็นว่าประเทศไทยเหมือนเป็น Safe Haven(ที่ปลอดภัย) อะไรๆเกิดขึ้น เงินชอบไหลมา แต่ตอนนี้ไทยเป็น less of the safe haven คือความเป็น Safe Haven ดูเหมือนจะน้อยลง
ชูปรับโหมดเน้นเศรษฐกิจให้ยืดหยุ่น-ทนทานต่อ shock ต่างๆ /ยืนดอกเบี้ย 2.5% อีกระยะหนึ่ง
ด้วยบริบทที่เป็นอย่างนี้ ธปท. จึงมีการ "ปรับโหมด" ตามสถานการณ์ การปรับโหมดไม่ใช่การปรับทิศทาง เพราะทิศทางยังเป็นไปตามสิ่งที่วางไว้ แต่จดโฟกัสอาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง เช่น จากที่มองระยะสั้นและออกจากวิกฤต ก็จะไปมองเป็นระยะปานกลางมากขึ้น โดยจะมองเรื่องของ resiliency (มีความยืดหยุ่น ที่ทำให้สามารถฟื้นกลับมาสู่ปกติได้) คือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจมี resilience ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสถียรภาพ (stability)ที่เป็นเรื่องการรักษาให้ทุกอย่างมันนิ่งๆ
ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ความหมาย resiliency กว้างกว่าเรื่องเสถียรภาพ โดยรวมๆ จะความยืดหยุ่นกว่า ล้มแล้วฟื้นกลับมาได้เร็ว และมีความปรับเปลี่ยน จะมีความทนทานต่อ shock ต่างๆ มีคนใหม่เข้ามา คนเก่าออกไป
การทำให้เศรษฐกิจไทยมี resilience จะต้องมีองค์ประกอบ 3 เรื่อง ได้แก่
เรื่องแรก เสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงิน (Macro financial stability)การดูแลเสถียรภาพจะต้องทำให้เงินเฟ้อไม่สูงเกินไป อยู่ในกรอบที่เหมาะสม และเศรษฐกิจเติบโตในระดับที่เหมาะสม และดูแลไม่ให้เกิดความเปราะบางทางด้านการเงิน ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจ resilience ต้องมีตัวนี้ ถ้าไม่มีตัวนี้ ตัวอื่นๆจะไม่ตามมา
เรื่องที่สอง การสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน ให้เป็น buffer ช่วยให้ทนทานต่อ shock ที่จะมาในอนาคต เช่น งบดุลมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นของครัวเรือน ธนาคาร ธุรกิจ และภาครัฐ เพื่อที่ว่าเมื่อเกิด shock ก็ยังรับมือได้ และต้องมีกระสุนเพียงพอ (policy space) เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้น จะมีเครื่องมือด้านนโยบายการเงินไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยและฝั่งการคลังให้เพียงพอ การที่จะทำให้เศรษฐกิจมี resiliency และมีภูมิที่ดีได้ จะต้องมีทางเลือกมีออปชั่นอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าระบบชำระเงินหลักมีปัญหา ต้องมีระบบอีกอันมาช่วยรองรับต้องมีถนนหลักและมีถนนรอง ส่วนเรื่องการค้าขายก็ควรมีทางเลือกอื่นๆ เช่น ถ้าค้าขายก็ไม่อยากให้ใช้เฉพาะดอลลาร์ฯ อยากให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นด้วย เป็นต้น
เรื่องที่สาม การสร้างโอกาสใหม่ๆในการเติบโตทั้งจากด้านดิจิทัลและความยั่งยืน เพราะถ้าเป็นเรื่องเสถียรภาพอย่างเดียว จะไม่มีความรู้สึกในเรื่องการเติบโต และถ้าไม่โตเลยจะมี resilience ได้อย่างไรและก็ไม่ยั่งยืน ซึ่งไปต่อไม่ได้ จึงต้องมีระบบที่เข้ามาช่วยสร้างเรื่องของโอกาสใหม่ ๆ ทำให้ไทยเติบโตได้จากของใหม่ๆ เช่น เรื่องดิจิทัล เรื่องการปรับเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน
ธปท.ต้องเอา 3 เรื่องนี้มาทำ เพื่อเอื้อให้เศรษฐกิจมี resilience มีความยืดหยุ่นมีความทนทาน ซึ่งมีหลายเรื่องที่ธปท. ต้องปรับหรือทำต่อ บางอันเป็นการต่อยอด บางอันเป็นการปรับโฟกัสต่างๆ อย่างมิติเรื่องนโยบายการเงิน จากเดิมที่เน้น smooth takeoff ทำให้เศรษฐกิจฟื้นได้ต่อเนื่องผ่านการปรับดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตอนนี้ก็ปรับเป็นเรื่องการ landing ให้กลับสู่ระดับปกติ หรือ neutral เหมาะสมกับความสมดุลในระยะปานกลาง ทั้งการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับศักยภาพ ควบคู่กับเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อระบบการเงิน (financial stability) ต้องโอเคในระยะยาว
"นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราคิดว่านโยบายการเงิน โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยช่วยให้เศรษฐกิจอยู่ในโหมด resilience คือ ทนทานต่อ shock ต่างๆที่เกิดขึ้น ช่วยทำให้เราเริ่มมี policy space มากขึ้น ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นจะได้มีช่องที่จะทำอะไรบ้าง"
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.50% อยู่ระดับที่เหมาะสมแล้วหลังจากที่มีการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หากสถานการณ์ในระยะข้างหน้า ไม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ และสอดคล้องกับที่ได้มองคาดการณ์ไว้ เชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยนี้จะคงไว้ที่ระดับนี้อีกระยะหนึ่ง
ดร. เศรษฐพุุฒิ กล่าวถึง ด้านมาตรการการเงิน จากเดิมที่เน้นการพยุง ประคับประคอง ช่วยอย่าให้คนที่ต้องจ่ายหนี้จ่ายสูงเกินไป แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นโหมดระยะยาว เพราะถ้าจะพยุงไปเรื่อยๆคงไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีทำให้หนี้มันจบ จึงเป็นที่มาของการออกมาตรการ responsible lending , risk-based pricing: RBP และ DSR หรือ debt service ratio เรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐาน สร้างกันชน สร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่มทางเลือกต่างๆ เช่น เรื่องระบบการชำระเงิน ทำให้มีช่องทางใหม่ๆที่จะช่วยเสริมระบบที่อยู่ อย่าง พร้อมเพย์ที่เป็นถนนหลักที่ทำงานได้ดีแต่ก็อยากให้มีช่องทางอื่นๆ เช่น PromptBiz มาช่วยเอสเอ็มอี เป็นต้น การสนับสนุนให้เกิดโอกาสใหม่ๆ จากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในด้านดิจิทัล ให้ภาคการเงินไทยพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสามารถตอบโจทย์ความต้องการปรับตัวของภาคธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น