ออสสิริส ผู้เชี่ยวชาญด้าน Gold Investment จับตาราคาทองคำเดือนเมษายน สถิติย้อนหลัง 5 ปี ราคาทองต้นเมษาฯ ปรับขึ้นหานิวไฺฮ ลุ้น Fed ปรับอัตราดอกเบี้ย และทิศทางของ GDP สหรัฐฯ สร้างความเคลื่อนไหวระลอกใหม่ช่วงปลายเมษาฯ
นายพีระพงศ์ วิริยะนุเคราะห์ นักวิจัยอาวุโส แผนก Ausiris Intelligence บริษัท ออสสิริสจำกัด วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ราคาทองคำในตลาดโลกช่วงเดือนมีนาคมปรับตัวทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่เปิดปีนี้ ขึ้นมาอยู่ที่2,009 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ในไทยก็ทำราคาสูงสุดทะลุ32,000 บาท ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการล้มกะทันหันของ Silicon Valley Bank ที่ได้สร้าง domino effect ลุกลามไปยังธนาคารอื่นๆ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้เกิดความตื่นตระหนกว่าจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ก่อนที่ราคาจะปรับตัวลดลงหลังธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ตัดสินใจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่ออีก 0.25% เพื่อแก้ไขปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่
“ในส่วนเดือนเมษายน ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเพราะมีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม เริ่มตั้งแต่ในช่วงต้นเดือนวันที่ 7 เมษายนนี้ ที่กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาจะประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ หรือ Nonfarm Payrolls ว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดหวังหรือไม่ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะเป็นมาตรวัดหนึ่งที่ Fed จะใช้ในการประเมินทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป อีกทั้งระดับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ยังคงตัวในระดับสูง จึงมีแนวโน้มว่า Fed อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนไปแตะที่ระดับ 5.25% - 5.50% ซึ่งจะต้องติดตามกันต่อไปว่า เดือนมีนาคม เงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด โดยจะมีการประกาศในวันที่ 12 เมษายนที่จะถึงนี้โดยมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงต่ำกว่า 6% กดดันให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed มีโอกาสชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย นับเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ” นายพีระพงศ์ กล่าว
สำหรับประเด็นต่อมาปัญหาสภาพคล่องของธนาคารในสหรัฐฯ แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มดูคลี่คลายบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีหลายธนาคารทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปที่เสี่ยงการขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมธนาคารในสหรัฐฯและยุโรป ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะล่าสุด ธนาคารรายใหญ่ของฝรั่งเศส อย่างSociete Generale SA และ BNP Paribas SA ต้องเผชิญกับค่าปรับรวมกันมากกว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ หลังการสอบสวนพบว่าธนาคารเหล่านี้เข้าไปพัวพันกับการฉ้อโกงทางภาษี และการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินปันผล” และล่าสุดผู้บริหารระดับสูงของJP Morgan เตือนว่าวิกฤตธนาคารยังไม่จบสิ้น และผลกระทบจากความวุ่นวายนี้อาจส่งผลไปอีกหลายปี
ประเด็นสุดท้าย คือ ช่วงปลายเดือน วันที่ 27 เมษายน จะมีการประกาศ GDP ของสหรัฐฯ หรือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ประจำไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวจากการบริโภคและการลงทุนในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ถึงการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ทั้งเอกชนและรัฐ ภาคผลิต รวมถึงการค้าปลีกที่ขยายตัว ผลที่ตามมาคือค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะแข็งค่าขึ้น เป็นการกดราคาทองคำให้ต่ำลง
โดยสรุป ปัจจัยบวกต่างๆ ที่มีผลต่อราคาทองคำในเดือนเมษายน ประกอบด้วย ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่อาจส่งสัญญาณความกังวลการเกิดเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารในสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัว
ทั้งนี้ในแง่ของสถิติย้อนหลัง 5 ปี เดือนเมษายน ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงขาขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งจะเริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน อาจมีลุ้นให้เห็นราคาทองคำทำนิวไฮใหม่
สำหรับปัจจัยลบต่อราคาทองคำ ได้แก่ รายงานการประชุมของคณะกรรมการตลาดเสรีกลาง หรือ FOMC ซึ่งมีหน้าที่หลักในการกำหนดและรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง และตัวเลข GDP Q1/66 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเดิมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่นปัญหาความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯหรือภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
“ส่วนปัจจัยใหม่อื่นๆ ที่น่าพิจารณา ได้แก่ การขาดสภาพคล่องของธนาคารในสหรัฐฯเพิ่มเติม ซึ่งเริ่มขยายวงไปในกลุ่มธนาคารยุโรป เป็นต้น” นายพีระพงศ์ กล่าว