เงินบาทเปิดเช้านี้ 33.99 บาท/ดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้น" กรุงไทยคาดในช่วง 24 ชั่วโมง จะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.10 บาท/ดอลลาร์ รอติดตามถ้อยแถลงประธานECB และแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.99 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.11 บาท/ดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 33.92-34.15 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ลงบ้าง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD เพิ่มเติม นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านระยะสั้น สู่ระดับ 2,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และจังหวะปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดก่อนหน้าใกล้โซน 2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 (นักวิเคราะห์บางส่วนปรับลดโอกาสที่รัฐบาล Trump 2.0 จะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าทั่วโลกลง เช่นจากโอกาสเกิดขึ้น 40% เหลือ 25%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันบ้างจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Chevron -2.0% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลนโยบายพลังงานของรัฐบาล Trump 2.0
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.40% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ LVMH +2.7% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ลงบ้าง ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell -1.0% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ตามนโยบายพลังงานของรัฐบาล Trump 2.0
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวในกรอบ Sideways แถวโซน 4.57% โดยการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกจำกัดโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงไม่เชื่อว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้งในปีนี้ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ลงบ้างก็ตาม นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวลดลงต่อได้ชัดเจน อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนสูง ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 20 อย่างใกล้ชิด ทำให้เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และท่าทีของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งอาจยังไม่ได้เร่งรีบเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรงอย่างที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงสู่โซน 108 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.9-108.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านระยะสั้น สู่โซน 2,750-2,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีไม่มาก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB ในช่วงราว 22.15 น. ตามเวลาประเทศไทย เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB มีโอกาสราว 88% ที่จะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้
และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างใกล้ชิด พร้อมรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following หลังเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยโซนแนวรับถัดไปจะอยู่ในช่วง 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทก็สามารถแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนดังกล่าวได้ หากได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ รวมถึงแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ หลังในช่วงนี้ เริ่มเห็นการทยอยกลับเข้าซื้อบอนด์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาวจากบรรดานักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม ขณะที่ในส่วนของหุ้นไทยนั้น นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิบ้าง แต่ยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับแรงซื้อสุทธิบอนด์ไทย
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดการเงินยังเสี่ยงเผชิญความผันผวนสูง และเงินบาทก็พร้อมกลับไปอ่อนค่าลงเร็วและแรงได้ทุกเมื่อ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล Trump 2.0 ดังจะเห็นได้จากในวันก่อนหน้า ที่เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าหนักจากโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างรวดเร็วในช่วง 7.40-8.00 น. หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้า 25% กับแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งจากภาพความผันผวนดังกล่าว ทำให้เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรประยุกต์ใช้กลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยอาจใช้กลยุทธ์ Options เพื่อสร้างความได้เปรียบในช่วงตลาดผันผวนสูง หรือพิจารณาใช้ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.10 บาท/ดอลลาร์