Economies

ดัชนีเชื่อมั่น SME เม.ย.เพิ่มขึ้น อานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นช่วงหยุดยาว
27 พ.ค. 2565

สสว. เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เม.ย. เพิ่มขึ้น รับอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์
          
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนเม.ย. 65 พบว่า ค่าดัชนี SMESI อยู่ที่ระดับ 50.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 49.1
          
ปัจจัยสำคัญมาจากการเดินทางและการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาว ส่งผลให้องค์ประกอบในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านกำไรและคำสั่งซื้อ ที่ค่าดัชนีปัจจุบันมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 54.3 และ 56.5 จากระดับ 51.6 และ 55.4 สะท้อนได้ว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น
          
เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่สูงกว่าค่าฐานอยู่ที่ระดับ 52.1 จากระดับ 51.3 ผลจากสถานการณ์ที่ดีขึ้นของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีแนวโน้มของการปรับลดมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเลิกการตรวจ RT-PCR และลดระยะเวลาการกักตัว ฯลฯ ซึ่งจะสนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย
          
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายภาคธุรกิจ พบว่า แทบทุกภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและภาคการบริการ มีเพียงภาคการเกษตรปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจปศุสัตว์ เนื่องจากค่าอาหารสัตว์และค่าพลังงาน ซึ่งเป็นภาระต้นทุนสำคัญที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงต่อเนื่อง
          
สำหรับดัชนี SMESI รายภูมิภาค เดือนเม.ย. 65 พบว่า เกือบทุกภูมิภาคค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับความเชื่อมั่นเกินกว่าค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นสูงสุดจากเดือนก่อน ได้แก่ ภาคใต้ รองลงมา คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยค่าดัชนีอยู่ที่ 49.0 51.7 52.7 50.5 จากระดับ 43.3 49.3 51.3 และ 49.4 ตามลำดับ
          
ส่วนปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนี SMESI ในส่วนภูมิภาคโดยรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ด้านผู้บริโภคและกำลังซื้อ จากการเดินทางในช่วงวันหยุดยาว ส่งผลต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ด้านการดูแลสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภค
          
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยบวกของแต่ละภูมิภาค พบว่า ส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนมาจากการเดินทางและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคใต้ ได้รับปัจจัยบวกในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ เดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอด ทำให้ชาวมุสลิมในพื้นที่ออกมาจับจ่ายใช้สอยกักตุนอาหารมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจในพื้นที่
          
ขณะที่ภาคเหนือ ธุรกิจในพื้นที่ขยายตัวจากกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ สะท้อนจากยอดจองโรงแรมห้องพักปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจอื่นๆ เช่น ร้านโมเดิร์นเทรด และร้านโชห่วย ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับผลดีจากแรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาว
          
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ SME ยังคงต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการด้านต้นทุน ทั้งราคาสินค้า/วัตถุดิบ ค่าสาธารณูปโภค และพลังงานเชื้อเพลิง ที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาสินค้าที่จะส่งถึงผู้บริโภค เพราะความต้องการยังปรับตัวไม่มากนัก
          
นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังคู่แข่งขัน โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ และการทำการตลาด เช่น การจัดโปรโมชั่น โปรโมทร้านผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้ สิ่งที่ยังต้องจับตามองด้านการท่องเที่ยว ว่าเป็นเพียงการปรับตัวช่วงสั้นๆ หรือไม่ เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นแรงกระตุ้นหลักสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com