มอนิ่งสตาร์ ชี้ไตรมาสแรกภาวะการลงทุนผันผวนทั้งจากโควิดยืดเยื้อ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย แรงเทขายกองตราสารหนี้ ฉุดภาพรวมกองทุนรวมมีเงินไหลออก 8.7 หมื่นล้าน มูลค่าสินทรัพย์หดตัว 4.2% จากสิ้นปีที่แล้ว เหลือ 4.1 ล้านล้านบาท โดยกองทุนที่หดตัวหนักได้แก่ กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ ตามด้วยกองตราสารหนี้ระยะสั้น และกองหุ้นขนาดกลาง เปิดกองทุนที่ผลตอบแทนติดลบมากกว่า 20% นำโดยกองทุน KWI Emerging Eastern Europe FIF -45.1% ส่วนใหญ่ลงทุนหุ้นพลังงาน-แบงก์ในรัสเซียน และกองทุนหุ้นจีน -15.5% ขณะที่กอง ETF US Fund China Region -23% ส่วนบลจ.ที่เงินไหลเข้าสูงสุด คือ บลจ.เกียรตินาคิน ส่วนบลจ.ที่เงินไหลออก ค่ายไทยพาณิชย์ บัวหลวงและกสิกรไทย
นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอนิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 นี้ ตลาดหุ้นในประเทศหลักๆ ปรับตัวลดลง นำโดย สหรัฐอเมริกา ดัชนี S&P 500 ปรับตัวลงกว่า 4.6% ตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงกว่า 14% ซึ่งลงหนักเพราะมีปัจจัยลบต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ที่มีการล็อคดาวน์เมืองใหญ่ ล่าสุด เซียงไฮ้ รวมถึงดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกง ปรับตัวลง 5.65% ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นลดลง 2.4% แม้แต่ตลาดหุ้นเวียดนามก็ติดลบ 0.41% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้น 3.2% สะท้อนภาพรวมภาวะการลงทุนยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยที่สร้างความผันผวน ทั้งจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่แม้ว่าโดยรวมทั่วโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่ยังถือว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น
"โดยเห็นได้จากการระบาดในประเทศจีนที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงช่วงเวลาหนึ่ง ด้านสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่ยุติ ได้ส่งผลต่อราคาพลังงานทั่วโลก ทำให้กองทุนน้ำมันมีผลตอบแทนสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังพุ่งสูง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับดอกเบี้ยหลายครั้งเพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ ด้าน Bond yield สหรัฐฯ ได้มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนมีนาคม ทำให้มีแรงขายกองทุนรวมตราสารหนี้มากขึ้น"
สำหรับประเทศไทยแม้ว่ายังมีการระบาดของโอไมครอน ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันคงอยู่ระดับมากกว่า 2 หมื่นคนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมาและยังไม่มีแนวโน้มลดลง แต่ในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่ายังไม่ใช่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในประเทศมากนัก โดยดัชนี SET Index ปิดที่ 1,695.24 จุด SET TR รอบ 3 เดือนอยู่ที่ 3.2%
เงินไหลออกจากกองทุนรวม 8.7 หมื่นล้านบาท
การเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 4.1 ล้านล้านบาท ทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) แต่หดตัวลง 4.2% จากสิ้นปี 2564 (QoQ) ซึ่งหดตัวลงในทุกประเภทกองทุนยกเว้นกองทุนตราสารตลาดเงิน (Money Market) ในช่วงไตรมาสแรกมีเงินไหลออกสุทธิรวม 8.7 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินไหลออกจากกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงได้ส่งผลลบต่อกองทุนตราสารหนี้ ผู้ลงทุนมีการขายกองทุนต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงไปอยู่ที่ต่ำกว่าระดับ 1.5 ล้านล้านบาท ลดลง 5.7% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นประเภทกองทุนที่มีเงินไหลออกสูงสุดในรอบไตรมาสนี้ด้วยมูล่า 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินไหลออกจากทั้งกองทุนตราสารหนี้ในประเทศและกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ
ทั้งนี้ 10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดตาม Morningstar Category ได้แก่ กองทุน Money Market มีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดที่ 6.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% จากสิ้นปี 2564 และยังมีเงินไหลเข้าต่อเนื่องอีกหนึ่งไตรมาส โดยล่าสุดเป็นกลุ่มเงินไหลเข้าสูงสุดมูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท
กลุ่มกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอันดับ 2 ที่ 6.3 แสนล้านบาท ลดลง 1.7% จากสิ้นปีที่แล้ว จากเงินไหลออกสุทธิรวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นเงินจากกองทุน LTF ที่ครบกำหนดไถ่ถอน ทำให้มีเงินไหลออกสูงขึ้นกว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งอยู่ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น ทั้งนี้กลุ่ม Equity Large-Cap เป็นหนึ่งใน 9 กลุ่มกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกในช่วงไตรมาสแรกที่ 1.8%
กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.6 แสนล้านบาท ลดลง 1.5% จากสิ้นปีก่อน จากเงินไหลออกสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินไหลออกจากบลจ. ใหญ่หลายแห่ง เช่น บลจ.กสิกรไทย บลจ.ไทยพาณิชน์ หรือ บลจ.ธนชาต ที่มีเงินไหลออกจากกองทุนกลุ่มนี้แห่งละมากกว่า 3 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันกองทุน Mid/Long-Term Bond มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลง 9.6% มาอยู่ที่ 2.1 แสนล้านบาท จากเงินไหลออกสุทธิเกือบ 1.8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลออกจากองทุนบลจ.กสิกรไทยราว 1.4 หมื่นล้านบาท
ส่วนกองทุนต่างประเทศหลายกลุ่มมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหดตัวลงเช่นกัน โดยกลุ่ม Global Equity ลดลง 6.4% แต่ยังมีมูลค่าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่กองทุนหุ้นจีนหดตัวลง 13.7% จากไตรมาสก่อนหน้าและต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ดีผู้ลงทุนมองเป็นจังหวะการเข้าลงทุนทำให้ทั้งสองกลุ่มยังคงมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด 10 อันดับแรก
เปิดกองทุนรวมผลตอบแทนติดลบหนัก
นางสาวชญานี กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนแรกนี้หลายกองทุนมีผลตอบแทนติดลบมากกว่า 20% โดยกองทุน KWI Emerging Eastern Europe FIF เป็นกองทุนที่มีผลตอบแทนต่ำสุดที่ -45.1% เกิดจากประเด็นรัสเซียและยูเครน กองทุนนี้ลงทุนใน Manulife Global Fund – Emerging Eastern Europe A ที่ถือหุ้นกลุ่มพลังงานและการเงินเป็นหลัก และลงทุนในหุ้นบริษัทรัสเซียราว 60% ตามข้อมูลการลงทุน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2021 อย่างไรก็ดีมูลค่าทรัพย์สินกองทุนนี้ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 38 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าสุทธิ 24 ล้านบาท
ส่วนกองทุนหุ้นจีนเป็นกลุ่มที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาที่ -15.5% โดยมีเหตุผลจากทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ หากไปดูที่ผลตอบแทนตามกลุ่มของกองทุนหลักจะพบว่ากลุ่ม US Fund China Region ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่มีส่วนการลงทุนใน ADR มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่ำสุดทั้งในรอบ 3 เดือนและ 1 ปี โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาติดลบถึง -23% การปรับตัวลงแรงของกองทุนเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปิดเผย 5 รายชื่อหุ้นจีนที่อาจถูกเพิกถอนจากสหรัฐฯ ทำให้ ADR บริษัทอื่นปรับตัวลงตามไปด้วย
สำหรับกลุ่ม EAA Fund China Equity, EAA Fund China Equity - A Shares และ EAA Fund Greater China Equity มีผลตอบแทนเฉลี่ยรอบ 3 เดือนที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยทั้ง 3 กลุ่มมีผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนมีนาคมที่ -6% ถึง -8%
เกาะติดบลจ. เงินไหลเข้า-ออกมากสุด
ส่วน 10 อันดับที่มีเงินไหลเข้า-ออกมากที่สุดรอบไตรมาส 1/2565 ของริษัทหลักทรัพยฺ์จัดการกองทุน (บลจ. )ตามกลุ่ม Morningstar Categories นำโดย
บลจ.ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุด ได้แก่ บลจ. เกียรตินาคินภัทร เงินไหลเข้ามูลค่า 7.3 พันล้านบาท ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิเติบโต 8.0% จากไตรมาสก่อนหน้า ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านบาท เนื่องจากมีกองทุนเปิดใหม่ที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนเช่น กองทุน KKP Vietnam Growth NFRI และ KKP NDQ100- Hedge รวมทั้งกองทุนที่มีอยู่เดิมคือ KKP Fixed Income Plus ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 2.7 พันล้านบาท รวมทั้ง 3 กองทุนมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 7.8 พันล้านบาท
ด้านเงินไหลออกมากที่สุด ได้แก่ บลจ.ไทยพาณิชย์ เงินไหลออกสุทธิ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นเงินจากกองทุนตราสารหนี้เป็นส่วนใหญ่รวม 1.1 หมื่นล้านบาท นำโดยกองทุน SCB Savings Fixed Income, SCB Global Fixed Income A และ SCB Fixed Income Plus (Acc) ไหลออกมากที่สุด 3 กองทุน รวมมูลค่า 1.0 หมื่นล้านบาท
ตามด้วย บลจ.บัวหลวงมีเงินไหลออกสุทธิ 9.9 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินกองทุน LTF มูลค่ารวมราว 5.6 พันล้านบาท นำโดยกองทุน Bualuang Long - Term Equity มีเงินไหลออกสุทธิ 3.4 พันล้านบาท ตามมาด้วยกองทุน Bualuang Long - Term Equity 75/25 มูลค่า 1.8 พันล้านบาท รวมทั้งกองทุน Bualuang Fixed Income ที่มีเงินไหลออกสุทธิ 2.9 พันล้านบาท
อันดับ 3 คือ บลจ.กสิกรไทยมีเงินไหลออกสุทธิมูลค่า 8.8 พันล้านบาท โดยเป็นผลจากเม็ดเงินกองทุนตราสารหนี้เป็นหลัก เช่น กองทุน K Fixed Income-A และ K Fixed Income Plus-A ที่มีเงินไหลออกสุทธิรวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท