Economies

เงินบาท“ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” เปิดเช้านี้ ที่ 35.61 บาท/ดอลลาร์
2 ส.ค. 2567

เงินบาท“ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” เปิดเช้านี้ ที่ 35.61 บาท/ดอลลาร์ กรุงไทย คาดวันนี้จะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.75 บาท/ดอลลาร์ ระวังความผันผวนช่วงทยอยรับรู้ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.61 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า 

 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways ใกล้โซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ในวันก่อน (แกว่งตัวในช่วง 35.50-35.63 บาทต่อดอลลาร์) โดยแม้ว่า เงินบาทอาจมีจังหวะแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการปรับตัวลดลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้านระยะสั้น 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต เดือนกรกฎาคม ล้วนออกมาแย่กว่าคาด อย่างไรก็ดี รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาดดังกล่าว ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงมากกว่าที่เคยประเมินไว้ กอปรกับรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ในธีม AI/Semiconductor ที่ออกมาแย่กว่าคาด ก็ยิ่งกดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ อยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ชัดเจน หนุนให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น (ค่าเงินเยนญี่ปุ่นที่เป็น Safe Haven ก็แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน) และกดดันให้ราคาทองคำทยอยย่อตัวลงบ้าง ส่งผลเงินบาททยอยอ่อนค่าลงจากโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์

 

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่เคยประเมินไว้ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ที่ออกมาแย่กว่าคาด อาทิ Qualcomm -9.4% ก็ส่งผลให้บรรดาหุ้นธีมดังกล่าวต่างปรับตัวลดลง โดยเฉพาะ Nvidia -6.7% ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.30% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.37% 

 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -1.23% หลังรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มการเงินและกลุ่มยานยนต์ ออกมาแย่กว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงของหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML -2.4% ตามแรงขายหุ้นธีมดังกล่าวในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

 

ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาแย่กว่าคาด และบรรยากาศในตลาดการเงินที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.97% ซึ่งก็ยังใกล้เคียงกับสิ่งที่เราได้ประเมินไว้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงไปต่ำกว่าระดับ 4% ได้อย่างชัดเจน จนกว่าตลาดจะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดใหม่ เช่น เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ติดต่อกัน มากกว่าคาด ซึ่งล่าสุด จาก CME FedWatch Tool ผู้เล่นในตลาด ได้คาดหวังว่า เฟดอาจทยอยลดดอกเบี้ยติดต่อกันในอีก 5 การประชุม FOMC หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดออกมาแย่กว่าคาด โดยเรามองว่า ยังคงต้องระวังความเสี่ยงที่ ตลาดอาจปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดดังกล่าวใหม่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ส่งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างที่กังวล หรือ เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในลักษณะดังกล่าว อนึ่ง บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ระดับต่ำกว่า 4.00% อาจมี Risk-Reward ที่น่าสนใจน้อยลง ทำให้เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอ “Buy on Dip” ในจังหวะบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น เหนือโซน 4.00% 

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนในกรอบ sideways โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อนึ่ง การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็อาจถูกจำกัดโดย การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นกัน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 104.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะพอได้แรงหนุนจากจังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด จนปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ราคาทองคำก็ไม่สามารถทรงตัวเหนือระดับดังกล่าวได้ ท่ามกลางแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด และการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,490 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคม ทั้งยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน (Unemployment) และ อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้ตั้งแต่ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย

 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดก็จะรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้  

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเริ่มมีโอกาสที่จะสามารถพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง และโซนแนวรับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราได้ประเมินไว้ก่อนหน้านั้น ก็อาจยังเป็นโซนแนวรับในระยะสั้นได้อยู่ ตราบใดที่ บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) จนหนุนให้เงินดอลลาร์ยังสามารถแกว่งตัวในกรอบ sideways หรือมีจังหวะแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ซึ่งการประเมินดังกล่าว ก็สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัล ใน Time Frame Daily ที่เงินบาท (USDTHB) อาจเกิดทั้งสัญญาณ RSI Bullish Divergence และมีลักษณะของรูปแบบ Bullish Hammer ทว่า หากจะมั่นใจได้ว่า เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าจากโซนแนวรับดังกล่าว ก็ควรเห็นการอ่อนค่าต่อเนื่อง เหนือระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจนเป็นอย่างน้อย ซึ่งเราประเมินว่า ภาพดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน จนทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย (ที่ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยติดต่อกันถึง 5 ครั้ง) 

 

โดยจากการประเมินความอ่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ จากข้อมูลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราพบว่า เงินบาทอาจมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซน 35.75 บาทต่อดอลลาร์ ในกรณีที่ ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซน 35.45 บาทต่อดอลลาร์ ในกรณีที่ ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจออกมาแย่กว่าคาด (ให้จุดเริ่มต้นเงินบาทแถว 35.60 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว) 

 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.75 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ)

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com