Economies

ธปท. คาด `บริโภค-ท่องเที่ยว` ดันเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโต 4.2% หวั่นการเมืองร้อนแรง ฉุดท่องเที่ยวสะดุด
19 ก.ค. 2566

ผู้ว่าฯ ธปท.  ชี้จัดตั้งรัฐบาลล่าช้ายังไม่กระทบเศรษฐกิจไทยปีนี้ หวั่นการเมืองร้อน ฉุดท่องเที่ยว-ศก. สะดุด คาดครึ่งปีหลัง ภาคบริโภค-ท่องเที่ยวเป็นตัวหลักขับเคลื่อน ศก. โตดีกว่าครึ่งปีแรก มองเงินเฟ้อลดลงชั่วคราว คงเดินหน้านโยบายการเงิน สกัดปัญหาเงินเฟ้อพลิกกลับมาสูงในระยะข้างหน้า  เตือนปมการเมืองร้อน เสี่ยงฉุดท่องเที่ยวสะดุด

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  กล่าวในงานพบสื่อ “Meet the Press”  ว่า มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2566  ยังมีศักยภาพในการขยายตัวได้ในระดับ 3-4% ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักๆมาจากการบริโภคภายในประเทศ และการท่องเที่ยว ที่คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 29 ล้านคน ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวได้ 4.2% ส่วนช่วงครึ่งปีแรกคาดเติบโต 2.9%  ในครึ่งปีหลังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง  ธ ปท. ได้ประเมินสมมติฐานการเบิกจ่ายงบประมาณด้านลงทุนจะมีความล่าช้าไป 1 ไตรมาส  คือการเบิกจ่ายงบประมาณจากไตรมาสที่4/66 (ก.ค.-ก.ย.) เป็นไตรมาสที่ 1/67 (ต.ค.-ธ.ค. 66) 

 

“ความไม่แน่นอนเรื่องรัฐบาล ใครจะมา มาเมื่อไร จะไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ เพราะตามกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณ ยังเป็นไปตามปกติ ที่ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายงบปรระจำ  ส่วนงบลงทุนก็ไม่ได้มีสัดส่วนมาก   จึงมองว่าปัจจัยนี้ ยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่จะไปกระทบเศรษฐกิจปีหน้า 2567”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า  สิ่งที่นักลงทุนจับตามากที่สุด คือ ความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาล  ความมีเสถียรภาพและนโยบายการคลังในระยะข้างหน้า เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าหน้าตาของรัฐบาลใหม่  แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลมีความยืดเยื้อ และเกิดเหตุการณ์รุนแรงของการชุมนุม ก็อาจจะกระทบต่อภาคท่องเที่ยวไทยและเศรษฐกิจได้เพราะฉะนั้นความเชื่อมั่นและความขัดเจนของรัฐบาลจะมีผลมากกว่าเรื่องเม็ดเงินงบประมาณ

 

"การทำนโยบายรัฐบาล ควรมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพ มากกว่าการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ  ถ้าดูตัวเลขการบริโภคเอกชนในครึ่งปีแรก ยังขยายตัวได้ 5% ดังนั้น การกระตุ้นการบริโภคจึงอาจจะยังไม่จำเป็น ขณะที่การท่องเที่ยวก็ฟื้นกลับมา ดังนั้นรัฐบาลควรมุ่งนโยบายสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจมากกว่า"

 

 สำหรับสถานการณ์ศรษฐกิจโลกชะลอตัว  จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่ออกมาไม่ค่อยดี ทำให้คาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปีนี้แทบจะไม่เติบโต

 

 ผู้ว่าการ  ธปท.  กล่าวถึงทิศทางเงินเฟ้อของไทยว่า  ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไป ปรับตัวลดลงต่ำกว่าคาดการณ์ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (พ.ค.-มิ.ย.) เนื่องมาจากราคาอาหาร และราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลง  ซึ่งเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น   แต่หากมองในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มเงินเฟ้อจะค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีโดยเฉพาะในภาคบริการ และอีกปัจจัย  ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตมากขึ้น ทำให้โอกาสการส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจจะเพิ่มขึ้นในระบบ  ดังนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องหยุดการทำนโยบายการเงิน  โดยจะยังเน้นดำเนินนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป  ซึ่งจะขึ้นกับ 3 ปัจจัยในการพิจารณา คือ เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีศักยภาพอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% และไม่ได้สร้างปัญหาเสถียรภาพการเงิน 

 

" ตอนนี้ ความจำเป็นที่จะต้องหยุดการทำนโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกตินั้น ยังไม่เห็น  เราไม่อยากให้ตลาดเข้าใจว่าเงินเฟ้อลงแล้ว เหมาะที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อที่ลง เป็นเรื่องชั่วคราว และมีโอกาสกลับขึ้นมา เราอยากเห็นเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบอย่างยั่งยืน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ ถ้าปล่อยดอกเบี้ยต่ำไว้นาน ก็มีผลต่อการเกิด  Search for Yield  หรือพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูงของนักลงทุน ถือเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงให้ดอกเบี้ยกลับมาสมดุล”

 

ผู้ว่า ธปท. กล่าวถึงความเป็นห่วงเศรษฐกิจไทยว่า  ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง  90% ของจีดีพี  ซึ่งเป็นหนี้ที่กู้มาเพื่อบริโภค และหนี้สาธารณะ 60 % ต้น ๆของจีดีพี ที่กู้มาเพื่อดำเนินการมาตรการค่างๆกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ขณะที่อศรษฐกิจไทยยังขาดเครื่องยนต์สำคัญมากที่สุด คือ การลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com