Economies

เงินบาท`อ่อนค่าเล็กน้อย`เปิดเช้านี้ 34.27 บาท/ดอลลาร์ 
4 ก.ย. 2567

เงินบาทเปิดเช้านี้ 34.27 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” คาดวันนี้จะอยู่ที่ 34.15-34.35 บาท/ดอลลาร์ จับตาไฮไลท์สำคัญ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับของสหรัฐฯ รวมถึง Fed Beige Book และถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.27 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.24 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทยังคงคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 34.20-34.34 บาทต่อดอลลาร์) โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงิน หลังผู้เล่นในตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนักอีกครั้ง จากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต เดือนสิงหาคม ที่แม้จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.2 จุด (ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 47.5 จุด) แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนภาวะหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตสหรัฐฯ เป็นเดือนที่ 5 อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ชะลอลงบ้าง หลังราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้างเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หนุนโดยการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ  และความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven Assets) ท่ามกลางภาวะผันผวนและปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน
 
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ชัดเจน จากทั้งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวลงหนัก รวมถึงแรงขายบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย Nvidia -9.5% ซึ่งมาจากทั้งแรงขายทำกำไรลดความเสี่ยงพอร์ต ความกังวลปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างไต้หวันกับจีน ซึ่งอาจกระทบต่อการผลิตชิพโดย TSMC รวมถึงรายงานข่าว Nvidia เสี่ยงถูกดำเนินคดีผูกขาดตลาด ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -3.26% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.12%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงกว่า -0.97% กดดันโดยแรงเทขายบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ นำโดย ASML -4.4% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Shell -2.7%, Rio Tinto -2.2% หลังราคาน้ำมันดิบและราคาแร่โลหะต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วงนี้ จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีน รวมถึงล่าสุดความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความเสี่ยงที่กลุ่ม OPEC+ อาจเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนตุลาคม  

ในฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.83% อีกครั้ง หลังในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 3.90% ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินในช่วงนี้จะอยู่ในช่วงเผชิญความเสี่ยงผันผวนสองด้าน หรือ Two-Way Volatility ขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตารายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ (ภาคการบริการคิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ) และข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามความต้องการถืองเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินเผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่า เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เพิ่มเติม อาทิ ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ และข้อมูลการจ้างงาน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 101.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 101.6-101.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถทยอยรีบาวด์ขึ้นเกือบ +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สู่ระดับ 2,525 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTs Job Openings) ของสหรัฐฯ รวมถึง รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ หรือ Fed Beige Book ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดแรงงานได้  

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเริ่มเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้น สอดคล้องกับสัญญาณเชิงเทคนิคัลที่ชี้ว่า โมเมนตัมฝั่งอ่อนค่านั้นมีกำลังมากขึ้น โดยเรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง และอาจอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าวได้ หากบรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินในช่วงนี้ ได้กดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติม (ในช่วง 3 วันทำการที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยราว -5.4 พันล้านบาท และขายสุทธิบอนด์ไทยราว -1.8 พันล้านบาท) ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ได้ชัดเจน ก็จะเปิดโอกาสให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลงต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างน้ำมันดิบ ที่อ่อนไหวกับแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจและประเด็นกำลังการผลิต ก็อาจกดดันเงินบาทเพิ่มเติมได้ จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบในช่วงการปรับฐาน (Correction) อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากภาวะปิดรับความเสี่ยงในช่วงนี้ ยังพอช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในช่วงนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ของสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) ในช่วง 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ 

เรายังคงมองว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หรือ การปรับสถานะถือครองเงินดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.15-34.35 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com