เงินบาท“อ่อนค่าลงเล็กน้อย” เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.54 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 35.20-35.80 บาท/ดอลลาร์ ลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจับตาผลประชุม ECB และ BOJ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.51 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways ใกล้ระดับ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 34.43-35.57 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่หนุนให้ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง ดัชนี S&P500 ต่างปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ก็มีส่วนช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และหนุนให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยเร็วและลึกของเฟด ส่วนนักลงทุนต่างชาติต่างเทขายสินทรัพย์ไทย
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ PCE และดัชนี PMI พร้อมเตรียมจับตาผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนมกราคม รวมถึงคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ครั้งแรก และไฮไลท์สำคัญ อย่าง รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดจับตา โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงสดใส ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยได้ “เร็วและลึก” โดยล่าสุดจาก CME FedWatch Tool ตลาดให้โอกาสเพียง 49% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ซึ่งหากโอกาสดังกล่าวลดลงต่อเนื่อง จะยิ่งหนุนให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เรามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ (รวมถึงตลาดการเงินโลก) อาจขึ้นกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ Netflix, ASML และ Tesla โดยบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดากรเงินโดยรวมอาจพอช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้
▪ ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของอังกฤษ และยูโรโซน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของอังกฤษ และยูโรโซน รวมถึง รายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของฝั่งยูโรโซน ไม่ได้ออกมาแย่กว่าคาด หรือ สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวลงที่มากขึ้นชัดเจนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ระดับ 4.00% และอาจส่งสัญญาณย้ำจุดยืนว่า ECB จะไม่รีบลดดอกเบี้ย ตามที่ตลาดกำลังคาดหวัง จนกว่า ECB จะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินเงินยูโร (EUR) หรือช่วยให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี หากผู้เล่นในตลาดตีความว่า ECB ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้น ต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย ก็อาจยิ่งกดดันให้เงินยูโรผันผวนอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก
▪ ฝั่งเอเชีย – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) โดยเราคาดว่า BOJ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ -0.10% พร้อมยังไม่เปลี่ยนแปลงมาตรการ Yield Curve Control อย่างไรก็ดี เราจะจับตาว่า มุมมองของ BOJ ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง หรือ BOJ มีการส่งสัญญาณต่อโอกาสในการปรับใช้นโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ เพราะหาก BOJ ยังไม่มีการส่งสัญญาณดังกล่าว หรือ แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ BOJ ก็อาจกดดันให้ ค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องจากระดับ 148 เยนต่อดอลลาร์ได้ ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นและแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของ BOJ จากรายงานยอดการส่งออกรวมถึงรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุด
▪ ฝั่งไทย – บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยยอดการส่งออก (Exports) อาจโตได้ราว +5.9%y/y หนุนโดยการกลับมาเป็นขาขึ้นของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และ Semiconductor รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังไปได้ดี ส่วนยอดการนำเข้า (Imports) จะขยายตัว +7%y/y ตามการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นหลัก
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้ทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟดในเดือนมีนาคมไปพอสมควร ทว่า เงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าต่อได้ หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ หลังราคาทองคำมีแนวโน้มรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของทองคำ ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าหรือช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นบ้าง
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาด “เลิกเชื่อ” ว่าเฟดจะรีบลดดอกเบี้ย หรือผลการประชุม ECB และ BOJ ชี้ว่าทั้งสองธนาคารกลางหลักอาจมีแนวโน้มนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายกว่าเฟด จนกดดันให้ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ผันผวนอ่อนค่าลง
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.20-35.80 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.45-35.65 บาท/ดอลลาร์