ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ 35.62 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.85 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นผลการประชุม ECB
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.62 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.69 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในช่วง 35.58-35.74 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน (ยอดการจ้างงานเอกชน โดย ADP เพิ่มขึ้น +1.4 แสนตำแหน่ง แย่กว่าคาด ส่วนยอดตำแหน่งงานเปิดรับ Job Openings ชะลอลงสู่ระดับ 8.86 ล้านตำแหน่ง ดีกว่าคาดเล็กน้อย) นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของประธานเฟดก็ย้ำว่า เฟดมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ ทว่าเฟดจะยังไม่รีบลดดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติมและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทบ้าง
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ท่ามกลางความหวังว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตามคาด และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจชะลอลงแบบ Soft Landing ตามถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในช่วงคืนที่ผ่านมา โดยภาพดังกล่าวได้หนุนให้หุ้นธีม AI/Semiconductor รีบาวด์ขึ้น นำโดย Nvidia +3.2% ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานในคืนวันศุกร์นี้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.51%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้น +0.39% ตามการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth โดยเฉพาะหุ้นธีม AI เช่นเดียวกันกับฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML +1.4% หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ยังทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ อนึ่งผู้เล่นในตลาดก็ยังไม่รีบปรับสถานะการลงทุนมากนัก เพื่อรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในคืนนี้
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 4.10% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสานต่อเนื่อง และถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ส่งสัญญาณว่าเฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ แม้ว่าจังหวะการลดดอกเบี้ยอาจยังไม่มีความแน่นอน ขึ้นกับพัฒนาการของอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ แม้เราจะยังคงมองว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เช่น ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% อาจเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในระยะสั้น ควรระวังความผันผวนของบอนด์ยีลด์ ที่อาจพลิกกลับมาปรับตัวสูงขึ้นได้ หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด “เซอร์ไพรส์” ผู้เล่นในตลาดและเรา อย่างไรก็ดี Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน (อาจเน้นทยอยเข้าซื้อในโซน บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เหนือระดับ 4.20%)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน (ขณะที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป กลับออกมาดีกว่าคาดในช่วงนี้ และช่วยหนุนสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้ง EUR และ GBP) และถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ย้ำว่า เฟดสามารถลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ แม้จังหวะการลดยังมีความไม่แน่นอน ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อลงใกล้ระดับ 103.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.2-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อ เหนือระดับ 2,150 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ถึงเป้าของราคาทองคำในปีนี้ของเราเป็นที่เรียบร้อย) ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรทองคำออกมาบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุม ECB ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เราประเมินว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) ที่ระดับ 4.00% ทว่า เราจะจับตาอย่างใกล้ชิดว่า คาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ของ ECB จะสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนอย่างไร รวมถึง ถ้อยแถลงของประธาน ECB จะมีการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย ที่อาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่าและลึกกว่าเฟดหรือไม่ เนื่องจากมุมมองดังกล่าวต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงิน จะส่งผลกระทบต่อเงินยูโร (EUR) ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอื่นๆ นั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดการส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งอาจต้องระมัดระวังในการวิเคราะห์พอสมควร จากผลกระทบจากปัจจัยด้านฤดูกาลช่วงเทศกาลตรุษจีน
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอีกหลายท่าน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแกว่งตัวลักษณะ sideways down แต่ทว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์ และผลการประชุม ECB ในคืนวันนี้ ทำให้เราประเมินว่า ก่อนที่ตลาดจะรับรู้ผลการประชุม ECB เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในกรอบ 35.55-35.75 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ในช่วงเช้านี้ จากรายงานอัตราการเติบโตของรายได้ (Average Cash Earnings) ที่ออกมาดีกว่าคาดและสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคาดหวังการทยอยปรับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งผลให้ เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าใกล้ระดับ 149 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเลือกที่จะทยอยเข้าซื้อเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงนี้บ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็อาจชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ หากไม่มีปัจจัยหนุนการแข็งค่าที่ชัดเจน
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมา ก็ทำให้ราคาทองคำเริ่มเข้าสู่โซน Overbought ทำให้มีความเสี่ยงที่ ราคาทองคำอาจเผชิญการปรับฐานได้พอสมควร หากมีปัจจัยลบเข้ามากดดัน ซึ่งอาจส่งผลให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้างได้เช่นกัน ทำให้เรามองว่า ควรระวังในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม ECB ที่เราคาดว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นในช่วง 35.50-35.85 บาทต่อดอลลาร์
เรายังขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.50-35.85 บาท/ดอลลาร์