Economies

“เอ็นไอเอ” เร่งเดินหน้าปั้น 10 สตาร์ทอัพสายอวกาศและอากาศยาน พร้อมเปิดพื้นที่โชว์ศักยภาพและต่อยอดธุรกิจ ในงาน DEMO DAY ผลักดันสตาร์ทอัพไทยสู่อุตสาหกรรมระดับโลก
6 ก.ย. 2566

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรม SPACE ECONOMY LIFTING OFF 2023 DEMO DAY  นำ 10 ทีมสตาร์ทอัพสายอวกาศ โชว์ศักยภาพ พร้อมนำชิ้นงานต้นแบบและบริการ เสนอต่อกลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างโอกาสในการนำเสนอแนวคิดและแสดงผลงาน ขยายผลต่อยอดทางธุรกิจร่วมกับหน่วยงานชั้นนำในอุตสาหกรรม  ผลักดันสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานต่อยอดสู่อุตสาหกรรม ทำให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ประเทศไทยได้มีผู้ประกอบการธุรกิจด้านอวกาศป้อนสู่ตลาดโลก โดยปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เป็นการตอกย้ำความสำเร็จในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอวกาศอย่างต่อเนื่อง ใน 2 ปีที่ผ่านมา โดยโครงการฯ ในปีนี้ขยายขอบเขตของเทคโนโลยีจากอวกาศไปสู่อากาศยาน ตั้งแต่ระยะแนวคิดไปจนถึงระยะเติบโต โดยมีสตาร์ทอัพผ่านเข้าโครงการฯ จำนวน 10 ทีม

 

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA กล่าวว่า “เป้าหมายหลักของ โครงการ SPACE ECONOMY : LIFTING OFF จัดขึ้นต่อเนื่องเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีเชิงลึกด้านอวกาศและอากาศยาน ให้มีโอกาสนำเทคโนโลยี นวัตกรรมไปขยายผลและต่อยอดธุรกิจร่วมกับหน่วยงานชั้นนำในอุตสาหกรรม  โดยโครงการฯ เน้นการบ่มเพาะเชิงปฏิบัติการที่สตาร์ทอัพได้มีโอกาสนำผลิตภัณฑ์และบริการที่กำลังพัฒนาอยู่มาทดสอบแนวความคิดและรับคำแนะนำเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความพร้อมในการเติบโต 

 

“จากการดำเนินโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564  โครงการฯ ได้พัฒนาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศและอากาศยานเข้าสู่อุตสาหกรรมถึง 34 รายและมีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 100 ราย โดย 1 ใน 3 ของสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสได้ต่อยอดธุรกิจและได้สร้างผลิตภัณฑ์และบริการตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรม การดำเนินงานของโครงการฯ ทำให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงแต่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้านอวกาศและอากาศยาน แต่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเชื่อมโยงอื่นๆ ด้วย อาทิ ธุรกิจด้านความยั่งยืน Climate Tech ธุรกิจดาวเทียมขนาดเล็ก ธุรกิจการใช้ข้อมูล เพื่อสำรวจทรัพยากร ธุรกิจโดรนและการสำรวจระยะไกล ธุรกิจด้านความปลอดภัย เป็นต้น 

 

“นอกจากนั้นโครงการฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านอวกาศทั้งกลุ่ม Robotics กลุ่ม Biotech กลุ่มนักพัฒนา Software กลุ่ม Hardware/Electronics, กลุ่ม Climate Tech ทำให้เกิดการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับกลุ่มนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงได้พัฒนา Supply Side ที่จะรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม New S-curve ที่คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติ 4-5 แสนล้านบาทในปี 2567 

 

“จากการดำเนินการโครงการที่ผ่านมา NIA ได้เป็นแกนกลางในการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลักด้านอวกาศและอากาศยานของประเทศ  เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้เข้ามาสู่อุตสาหกรรมอวกาศที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยยังมีส่วนแบ่งในตลาดโลกค่อนข้างน้อย ดังนั้นแผนงานที่ต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่องก็คือการร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการพัฒนา supply side อย่างต่อเนื่อง เร่งสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีด้านอวกาศและอุตสาหกรรมเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาด เพื่อรองรับการเติบโตและการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงผลักดันให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้านอวกาศของไทยได้เข้าไปเป็นผู้เล่นในระดับโลก โดยเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพทั้งรายใหม่และ SME ได้มีโอกาสทรานสฟอร์มโครงสร้างธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง เสริมศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตในรูปแบบสตาร์ทอัพต่อไป” ดร.กริชผกากล่าว

 

สำหรับ Space Economy: Lifting Off 2023  ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพ 10 ทีม ซึ่งล้วนแต่มีความโดดเด่นของเทคโนโลยีและมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างมูลค่าในอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคต ประกอบด้วย 

 

“AIRG” ออกแบบและสร้างอากาศยานบินเหนือพื้นน้ำ ในแบบ WIG Craft (Wing-in-Ground)  type C แบบ 2 ที่นั่ง เพื่อการขนส่ง ระหว่างเกาะและชายฝั่ง 

 

“CiiMAV” ให้บริการด้านการออกแบบให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรม ด้านอากาศยานไร้คนขับ 

 

“DDM” ระบบ Land Credit จัดทำข้อมูลประเมินรายได้ของเกษตรกร ผ่านการประมวลผลข้อมูลจากดาวเทียมโดยใช้ AI และMachine leaning  

 

“EarthMove” ระบบเฝ้าระวังภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและแผ่นดินถล่มโดยใช้เทคนิคทาง GPS/GNSS และ InSAR  

 

“ICreativeSystems” อากาศยานไร้คนขับที่สามารถขึ้นลงแนวดิ่ง (VTOL) มีเสถียรภาพสูง รองรับกับภารกิจที่หลากหลาย และใช้ระยะเวลานานในการปฎิบัติงาน 

 

“MUT Space Maker”ชุดการเรียนรู้ดาวเทียม Cubesat สำหรับผู้เริ่มต้นพร้อมหลักสูตรการอบรมแบบปฏิบัติงานจริง (hands-on training) 

 

“Siam Airspace Innovation” โดรนอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและตรวจสอบสินค้าในคลังสินค้าและระบบโลจิสติกส์   

 

“Spacedox HAPs” DRONE CELL TOWER INSPECTION SERVICE สายอากาศภาครับที่สามารถรับคลื่นความถี่ เพื่อวิเคราะห์การกระจายตัวของเสาโทรศัพท์ได้อย่างแม่นยำ 

 

“Ultimate Drone Solution” โดรนอัตโนมัติ ควบคุมผ่านคลื่นวิทยุจากสถานีภาคพื้นดิน และระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G/5G  

 

“VEKIN” ระบบตรวจวัดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนและการดูดซับคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ Machine Learning และข้อมูลจาก Satellite

โดยผู้ชนะการนำเสนอ (pitching) ในงาน Demo Day ของโครงการ Space Economy: Lifting Off 2023 (ตัดสินจากคณะกรรมการ) มี 3 อันดับ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ คือ ทีม VEKIN  รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 คือ ทีม ICreativeSystems  รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือ ทีม  Ultimate Drone Solution  สำหรับรางวัล The Popular Vote  (ตัดสินจากผลโหวตของผู้เข้าร่วมงาน)  คือ ทีม Ultimate Drone Solution และรางวัล The Popular Vote (ตัดสินจากคณะกรรมการ) คือ ทีม EarthMove  ทั้งนี้ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้ง 3 อันดับและรางวัล The Popular Vote ทั้ง 2 รางวัล จะได้มีโอกาสได้รับเลือกเข้านำเสนอผลงานในงาน Startup and Innovation Thailand Expo 2024 เพื่อโอกาสในการระดมทุนและการเติบโตต่อไป

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com