สภาพัฒน์ ปรับลดประมาณการณ์ GDP ปี 65 โต 2.5-3.5% จากเดิมคาดโต 3.5-4.5% จากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และราคาพลังงานที่ผันผวน
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 65 เหลือโต 2.5 - 3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3% จากครั้งก่อนคาด 3.5-4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาที่ส่งผลถึงไปอัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย
ขณะที่สมมติฐานทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ปรับลดลงด้วยเช่นกัน โดยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ ปรับลดลงเหลือ 3.5% จากเดิม 4.5% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ด้านราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 95-105 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี อยู่ที่ระดับ 33.30-34.30 บาท/ดอลลาร์ จากเดิม 32.20-33.20 บาท/ดอลลาร์
สำหรับปัจจัยข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 65 ได้แก่ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ จากผลความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากการกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดอย่างเข้มงวด เพื่อมุ่งเน้นไม่ให้มีผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศ (มาตรการ Zero Covid) รวมทั้งปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก และระบบโลจิสติกส์
2. เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ จะจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งภาระหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง จะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ และความสามารถในการชำระหนี้ ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะต่อไป ประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
3. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จากแนวโน้มการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ซึ่งอาจจะนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ดี ปัจจัยเรื่องการระบาดของไวรัสโควิดเริ่มมีน้ำหนักต่อเศรษฐกิจลดลงจากในช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากประชาชนได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึงมากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตลดลง
นายดนุชา ยอมรับว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น คงเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจากการระบาดของโควิด ซึ่งปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันเกิดขึ้นกับหลายประเทศไม่เฉพาะไทยเท่านั้น ซึ่งการดำเนินมาตรการเข้ามาช่วยเหลือทั้งของภาครัฐ และธนาคารแห่งประเทศไทย ในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคเอกชน จำเป็นต้องทำอย่งต่อเนื่อง แต่จะต้องมีมาตรการที่เป็นลักษณะเฉพาะ และตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่การทำมาตรการแบบครอบคลุม เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิด Moral Hazard หรือการสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมขึ้นได้
"การแก้ปัญหาหนี้ ต้องมีลักษณะเฉพาะครัวเรือน เฉพาะกิจการ จะออกมาตรการแบบครอบคลุมไม่ได้ ไม่เช่นนั้นะเกิดปัญหา Moral Hazard...มองว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ก็มีความก้าวหน้ามากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ 6 ล้านบัญชี ตอนนี้ก็เริ่มลดลง การแก้ปัญหาต้องเน้นในการพยายามยืดเวลาชำระหนี้ให้กับครัวเรือนและภาคธุรกิจ เพื่อให้มีสภาพคล่องในการใช้จ่าย และดำเนินธุรกิจได้" เลขาธิการสภาพัฒน์ระบุ
สำหรับปัญหาราคาพลังงานที่อาจจะมีผลต่อหนี้ครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นนั้น นายดนุชา กล่าวว่า ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ในตลาดโลก และส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว ส่วนการจะพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงอีกหรือไม่ หรือจะมีการดำเนินการอย่างไรนั้น ต้องรอการพิจารณาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
นายดนุชา ยังกล่าวถึงความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศว่า การจะพิจารณากู้เงิน หรือการใช้มาตรการการคลังใดๆ เพิ่มเติมนั้น ต้องพิจารณาปัจจัยให้รอบคอบ โดยเฉพาะข้อจำกัดในด้านทรัพยากรของประเทศ รวมถึงข้อจำกัดด้านฐานะการคลัง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมกันพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าจะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร
โดยปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังเหลือเม็ดเงินอยู่ราว 74,000 ล้านบาท แต่เงินก้อนนี้ ยังมีภาระที่จะต้องนำไปใช้ใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.การใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนนำเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติ ซึ่งจะเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนในทั่วประเทศ และ 2. ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาพยาบาลที่ต่อเนื่องจากโควิด อีกราว 16,000 ล้านบาท ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้น จึงเท่ากับจะเหลือเม็ดเงินจริงๆ อีกเพียง 48,000 ล้านบาท ที่จะต้องนำเงินก้อนนี้มาใช้จ่ายภายใน 2565
"สถานการณ์ขณะนี้ เป็นผลกระทบที่ซ้อนต่อเนื่องจากโควิด หลายประเทศเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นการกู้เงินเพื่ออัดฉีดระบบเศรษฐกิจ ต้องดูเวลาให้เหมาะสมจริงๆ และต้องรอบคอบจึงค่อยตัดสินใจ ไม่เช่นนั้น จะเป็นการเอาใช้ทรัพยากรของประเทศไปใช้ได้ผลไม่เต็มที่" เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว
ส่วนปัจจัยสนับสนุนในปี 65 ที่สำคัญ คือ 1. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จากผลของการผ่อนปรนมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยการยกเลิกมาตรการ Test&Go ที่อนุญาตให้กลุ่มชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว ไม่ต้องกักตัวนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 รวมทั้งการเปิดด่านชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และ 2. การขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า จากผลการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามการขยายตัวของกลุ่มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลัก เนื่องจากความคืบหน้าของการกระจายวัคซีน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดอย่างต่อเนื่อง
"ในปี 65 นี้ การส่งออก และการท่องเที่ยวจะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยมูลค่าการส่งออก คาดว่าจะอยู่ที่ 289,200 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 7.3% ขณะที่คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยว จะอยู่ที่ 570,000 ล้านบาท ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 7 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจะทยอยเข้ามามากสุดในช่วงไตรมาส 4" นายดนุชา กล่าว
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยอื่น ๆ ในปี 2565 คาดว่า มูลค่าการส่งออก ขยายตัวได้ 7.3% มูลค่าการนำเข้า ขยายตัว 10.9% เกินดุลการค้า 34.6 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัด -1.5% ต่อจีดีพี อัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 4.2-5.2%
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 ว่า ควรให้ความสำคัญดังนี้
1. การรักษาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน โดยการติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19, การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน, การดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต และการดูแลกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า
2. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ, การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง, การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจ และการยกระดับศักยภาพและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน
3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักและการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน, การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน, การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และการเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ และการปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
4. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง, การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ, การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก (iv) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ, การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ และการพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้น
5. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
6. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมเพื่อเตรียมการรองรับฤดูกาลเพาะปลูก และการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น
7. การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก
พร้อมย้ำว่า ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติและส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยเช่นนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้จับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น รวมถึงเน้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศก่อนเพื่อช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ ขอให้ไปเฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ