สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เผยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัว 3.9% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ส่วนหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวมีมูลค่าการออกเท่ากับ704,153 ล้านบาท โดย 94% เป็นการออกหุ้นกู้จากกลุ่ม Investment grade กลุ่มธุรกิจที่ออกหุ้นกู้สูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มพลังงาน นอกจากนี้ผลสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจากผู้ร่วมตลาดชี้ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ส่วน Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะขยับตัวลงในไตรมาส 4 ปี 2567 เฉลี่ยราว 5-10 bps. นับจากวันที่ทำการสำรวจ มาอยู่ที่ร้อยละ 2.16 และ 2.45ตามลำดับ
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นสำคัญ ในขณะที่การออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 704,153 ล้านบาท คิดเป็น 70% ของมูลค่าการออกในปีที่แล้ว โดยหุ้นกู้ที่ออกส่วนใหญ่กว่า 94% อยู่ในกลุ่ม Investment grade
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ออกหุ้นกู้ระยะยาวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มพลังงาน
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ณ สิ้นไตรมาส 3ปี 2567 ปรับตัวลดลงจากสิ้นปีที่แล้ว 20-22 bps. ในรุ่นอายุ 2 ปี ถึง 10 ปี ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 Bond yield ไทย รุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ปรับตัวลงมาอยู่ที่ระดับ 2.14% 2.23% และ 2.48% ตามลำดับ
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) ของหุ้นกู้ในกลุ่ม AAA และ AA รุ่นอายุ 5 ปี ปรับตัวลดลง 14-25 bps. ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ใกล้เคียงกับการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ในขณะที่อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้กลุ่มอันดับเครดิต A BBB+ และ BBB ปรับตัวลงน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งสะท้อนถึงส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ที่สูงขึ้นจากการระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกู้กลุ่มดังกล่าวของผู้ลงทุน โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 หุ้นกู้กลุ่ม AAA AA A BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนเท่ากับ 2.97% 3.06% 3.44% 4.53% และ 5.49% ตามลำดับ
กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow)ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 6,902 ล้านบาท เป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยในช่วง 2 ไตรมาสแรก ที่ 65,463 ล้านบาท และการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยในไตรมาส 3 ที่ 58,561 ล้านบาท ภายหลังการประกาศตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่แสดงถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จนมีการคาดการณ์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่กำลังใกล้เข้ามา และเมื่อการประชุมรอบเดือนกันยายนก็ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ตามคาด ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 นักลงทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 9.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.4 ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยโดยอายุคงเหลือของตราสารหนี้ไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมีอายุเฉลี่ย 8.8 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปี เมื่อสิ้นปี 2566
ทั้งนี้ ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ได้กล่าวถึง ผลสำรวจผู้ร่วมตลาดเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี 2567 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้ง 0.25% ในรอบการประชุมในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567
สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะขยับตัวลงในไตรมาส 4 ปี 2567 โดยเฉลี่ยราว 5-10 bps. นับจากวันที่ทำการสำรวจ มาอยู่ที่ร้อยละ 2.16 และ 2.45ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2567 โดยปัจจัยหลักที่ผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อ Bond yield ในอนาคต คือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ