เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปิดเช้านี้ที่ 35.54 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบสัปดาห์นี้ 35.25-36.00 บาท/ดอลลาร์ จับตาถ้อยแถลงธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด พร้อมติดตามผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.54 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 35.41-35.76 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และดัชนี ISM Services PMI ล่าสุด ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นและมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ราว -100bps (-1%) นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ยังเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นได้บ้าง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนัก หลังผลการประชุมเฟดล่าสุดและรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ตลาดเชื่อว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และเฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤษภาคมปีหน้า
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด พร้อมติดตามรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสและพันธมิตร
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐฯ – รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ยอดการจ้างงานและดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงผลการประชุมเฟดล่าสุด ที่สะท้อนว่า เฟดอาจถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้ ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยจากข้อมูล CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมและอาจลดดอกเบี้ยลงราว -100bps (-1%) ในปีหน้า และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ควรจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
▪ ฝั่งยุโรป – เรามองว่า เศรษฐกิจอังกฤษมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ตามผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนผ่าน อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่จะขยายตัวเพียง +0.5%y/y นอกจากนี้ ภาพเศรษฐกิจยูโรโซนก็มีทิศทางชะลอลงเช่นเดียวกันกับฝั่งอังกฤษ โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกันยายน อาจหดตัวต่อเนื่องราว -0.2% ซึ่งจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอังกฤษและยูโรโซนดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมล่าสุด ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ BOE และ ECB เพื่อช่วยประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของทั้งสองธนาคารกลาง และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาทิศทางตลาดหุ้นยุโรปอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงนี้จะมีการรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนพอสมควร อีกทั้งในช่วงนี้ ค่าเงินยูโรและค่าเงินปอนด์ ก็เคลื่อนไหวผันผวนตาม ทิศทางตลาดหุ้นยุโรป
▪ ฝั่งเอเชีย – เราประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจออสเตรเลียที่ชะลอตัวลง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อาจทำให้ ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.10% (ตลาดมองขึ้นดอกเบี้ย สู่ระดับ 4.35%) ส่วนในฝั่งจีน การค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทว่า ยอดการส่งออกและนำเข้าในเดือนตุลาคม อาจยังคง “หดตัว” เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ราว -2.9% และ -4.5% ตามลำดับ นอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจจีน จะทำให้ อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนตุลาคม ชะลอลงสู่ระดับ -0.2% ซึ่งจากภาพดังกล่าวอาจเพิ่มโอกาสที่ ทางการจีนพิจารณาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม ควบคู่กับการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังได้
▪ ฝั่งไทย – เรามีมุมมองที่ต่างจากบรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนตุลาคม โดยเรามองว่า ผลของฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า รวมถึงการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงานและราคาเนื้อสัตว์ จะส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัว -0.7%m/m หรือ -0.7%y/y (ตลาดมอง +0.1%y/y) ทั้งนี้ เรามองว่า การชะลอลงของอัตราเงินเฟ้ออาจไม่ได้ส่งผลให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่อาจทำให้วัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยได้สิ้นสุดลงแล้วที่ระดับ 2.50%
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง โดยผู้เล่นในตลาดอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าในการทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หรือ ทำกำไรสถานะ Long THB นอกจากนี้ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติอาจยังมีทิศทางไม่ชัดเจน โดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรได้บ้าง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจยังเข้าซื้อบอนด์ไทยได้ หากอัตราเงินเฟ้อของไทยชะลอลงมากขึ้น หรือ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทรงตัว/ย่อตัวลง
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ก็อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์แกว่งตัว sideway หรือ อ่อนค่าลง ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนจากสถานการณ์สงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงนี้ ตลาดการเงินยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน สถานการณ์สงครามที่ยังคงร้อนแรงอยู่ รวมถึงปัญหาหนี้ภาคอสังหาฯ ของจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.25-36.00 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.70 บาท/ดอลลาร์