'เเผ่าภูมิ’ รมช. คลัง คิกออฟมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” วงเงิน 5 พันล้าน ปลดล็อก SMEs และร้านค้ารายย่อย เข้าถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ โดยค้ำกู้ฯสูงสุด 1.5 ลบ. ฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 3 ปีแรก ค้ำประกันนาน 7ปี เปิดรับคำขอตั้งแต่ 1 เม.ย. นี้ ประเดิมงานมอเตอร์โชว์ คาดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 21,000 ล้านบาท ช่วยปลุกอุตสาหกรรมยานยนต์และซัพพลายเชนมากกว่า 2,500 บริษัท พลิกฟื้นอีกครั้ง
ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดตัวมาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อ “บสย. SMEs PICK-UP” ซึ่งจะค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ เฟสแรกตั้งวงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มเป้าหมายคือ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ที่ขอสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับซื้อรถกระบะใหม่เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ โดย บสย. จะค้ำประกันฯต่อรายสูงสุด 1.5 ล้านบาท ระยะเวลานานสูงสุด 7 ปี หรือ 84 งวด และฟรี! ค่าธรรมเนียมค้ำประกันในช่วง 3 ปีแรก เพราะกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ ส่วนปีที่ 4-7 คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่ำเพียง 1.5% ต่อปี โดย บสย. เปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึง 30 ธันวาคม 2568 ทั้งนี่ คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการซื้อรถกระบะใหม่ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้กว่า 6,250 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 5,000 ล้านบาท และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 21,000 ล้านบาท
“มาตรการนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จะช่วยลดความเสี่ยงและสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อรถกรบะได้ เนื่องจากที่ผ่านมาปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะ ที่สถาบันการเงินมีความกังวลในความเสี่ยงในการชำระหนี้ของ SME และราคารถมือสองตกต่ำ ขณะที่รถกระบะเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในภาคเกษตรและตามต่างจังหวัด เช่น เกษตรกร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ค้าขาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยพลิกฟื้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย ได้มากกว่า 2,500 บริษัท เพราะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็นภาคที่มีซัพพลายเชนยาวมาก ทำให้สามารถรักษาการจ้างงานไว้ได้จำนวนมาก“
สำหรับ “อุตสาหกรรมยานยนต์” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ถึง 18% ซึ่งประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการผลิตรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ จากยอดผลิตรถยนต์รวมทุกประเภท จากฐานการผลิตของไทยจำนวน 1.477 ล้านคัน (ขายในประเทศ+ส่งออก) เป็นสัดส่วนการผลิตรถกระบะ 1 ตัน เกือบ 50% หรือกว่า 7.3 แสนคัน โดยภาพรวมอุตสาหกรรมช่วงที่ผ่านมา การผลิตเพื่อขายในประเทศและการส่งออกจากเดิมสัดส่วนอยู่ที่ 50:50 แต่ในปี 2567 พบว่าตลาดในประเทศหดตัว ทำให้การผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงเหลือ 31% ขณะที่การส่งออกเพิ่มเป็น 69% โดยเชื่อมั่นว่าจากมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ซบเซาให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า มาตรการ “กระบะพี่ มีคลังค้ำ” เป็นมาตรการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ “SMEs PICK-UP” ที่ปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินให้กับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีความจำเป็นต้องซื้อรถกระบะใหม่ โดย บสย. จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยชดเชยความเสี่ยง ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ในการปล่อยสินเชื่อ ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rate) ให้กับ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความจำเป็นต้องใช้รถกระบะเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น เกษตรกร ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ค้าขาย และฟู้ดทรัค เป็นต้น
สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่ถือหนังสือค้ำประกัน บสย. จะได้รับความช่วยเหลือในกรณีที่ประสบปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดต่อได้จนกลายเป็นหนี้เสีย และรถถูกยึดขายทอดตลาดเสร็จสิ้นแล้ว โดยไฟแนนซ์พิจารณาส่งยอดหนี้คงเหลือมาเคลมกับ บสย. ซึ่งลูกหนี้ที่ถูกจ่ายเคลมภายใต้มาตรการนี้ สามารถเข้าร่วมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” หรือ มาตรการ 3 สี ม่วง เหลือง เขียว ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ บสย. (SMEs ที่ บสย. จ่ายเคลม) ผ่อนยาวสูงสุด 7 ปี ดอกเบี้ย 0% ตัดเงินต้นก่อนตัดดอก และสำหรับลูกหนี้ดี มีวินัย สามารถปลดหนี้ได้เร็วขึ้น โดย บสย. ลดเงินต้นให้สูงสุด 10-15% และพิเศษลดเงินต้น 30% สำหรับลูกหนี้ “กลุ่มเปราะบาง” ที่เงินต้นไม่เกิน 2 แสนบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs ครอบคลุมทุกกลุ่ม พร้อมปรับสิทธิประโยชน์ให้มีความยืดหยุ่น ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้ SMEs สามารถแก้หนี้ได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น พร้อมฟื้นฟูธุรกิจเดินหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน