ธปท. ต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย เปิด“รวมหนี้ข้ามแบงก์” ได้แล้ว ตั้งเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลบวกไม่เกินเพิ่ม 2%จากดอกเบี้ยกู้บ้าน เผยเป็นการแลกกับการผ่อนผันภาระตั้งสำรองของสถาบันการเงินจนถึงสิ้นปี’66 ยอมรับกระทบแบงก์รายได้ลดลง แต่ฝั่งต้นทุนก็ลดตาม
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ขยายมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ออกไปครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้ที่มีหลักประกันประเภทสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงที่กว้างขึ้น โดยกำหนดให้มีแรงจูงใจในการสนับสนุนให้สถาบันการเงินทำการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและ สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) เข้าด้วยกัน โดยสามารถรวมหนี้ข้ามแบงก์ได้จากก่อนหน้านี้กำหนดให้เฉพาะภายในแบงก์เดียวกัน และกำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยได้ไม่เกินดอกเบี้ยบ้านบวก 2%เท่านั้น โดยมาตรการรวมหนี้ครั้งนี้ จะดำเนินการได้ถึงภายในสิ้นเดือน ธ.ค. 2566
“เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี หรือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ด้วยการนำหลักประกันของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการช่วยลดภาระดอกเบี้ยและค่างวดในระยะยาว นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการลดข้อจำกัดการทำรีไฟแนนซ์หนี้ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของสถาบันการเงินในการรวมหนี้ให้กับลูกหนี้ควบคู่ไปด้วย อาจจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของแบงก์ลดลงแต่ไม่มาก คิดว่าอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ แต่อีกข้างหนึ่ง ธปท.ก็ได้ผ่อนปรนมาตรการตั้งสำรองให้ อีกทั้งยังช่วยให้แบงก์ไม่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า เท่ากับเราได้ช่วยลดต้นทุนให้” นางรุ่งกล่าว
สำหรับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ในรอบเช้าของวันนี้ มีการปรับตัวกระจายทั้งบวกและลบ โดยธนาคารที่หุ้นปรับตัวขึ้น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารซีไอเอ็มบี ประเทสไทย (CIMBT) และบมจ.ทิสโก้ไฟแนนซ์เซียลกรุ๊ป (TISCO) ขณะที่หุ้นที่ปรับตัวลง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และบมจ. แอล เอช ไฟแนนซ์เซียล กรุ๊ป (LHFG) ส่วนหุ้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงได้แก่ ธนาคารกรุงศรี (BAY) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) และบมจ.ทุนธนชาต (TCAP)
ทั้งนี้ ธปท. ได้กำหนดมาตรการผ่อนปรน สรุปดังนี้
1. ห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับและสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกั บเป็นการชั่วคราว โดยให้มีผลบังคับใช้ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2566
2. ปรับปรุงแนวทางการรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น (debt consolidation) โดยขยายขอบเขตให้สามารถรวมหนี้ข้ามสถาบันการเงินและ/หรือผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นได้ จากเดิมที่สามารถรวมหนี้ได้เฉพาะหนี้ในสถาบันการเงินเดียวกัน
ทั้งนี้ ในกรณีที่สถาบันการเงินมีสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้นได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิม ส่วนในกรณีที่รับโอนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (refinance) มาจากสถาบันการเงินอื่น สถาบันการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ สำหรับสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่นำมารวมหนี้ด้วย ให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นอัตราที่ใช้หลังการส่งเสริมการขาย (teaser rate) บวกร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยโดยทั่วไปอย่างมีนัย
โดย ธปท. ได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์ การกำกับดูแลทั้งการจัดชั้นหนี้ การกันเงินสำรอง และการดำรงเงินกองทุน เพื่อลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงิน ที่ช่วยเหลือลูกหนี้สำหรับการรวมหนี้ที่ดำเนินการภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินและ ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินโดยตรงเพื่อสมัครเข้าร่วมมาตรการ 2 ภายใต้มาตรการครั้งนี้ ธปท. ขอให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจเร่งดำเนินการเพื่อช่วยบรรเทาภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ตลอดจนกำหนดค่างวดการผ่อนชำระของลูกหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งลูกหนี้ สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ดีที่สุด