เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง ชี้เทรนด์ลงทุนปี 66 ครึ่งปีแรกเจอเศรษฐกิจถดถอยช่วงสั้นๆตื้นๆ เกาะติดจุดเปลี่ยน 'PIVOT' ดอกเบี้ยนโยบาย เผยก่อน บอนด์ยีลด์แตะจุดพีก แนะจัดพอร์ตลดลงทุนหุ้นสี่ยง เน้นกระจายหุ้นมีคุณภาพและสินทรัพย์ทางเลือกผันผวนต่ำ จับตาทองคำกลับมาอีกครั้ง ช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดมีสัญญาณบวกหากมีการลดดอกเบี้ยฝ่าเศรษฐกิจถดถอย ชูเพิ่มน้ำหนักลงทุนหุ้น ลงทุนหุ้นกู้เอกชนไฮยีลด์ ถือเงินสดลดลง พร้อมตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าเศรษฐีและพอร์ตบริหาร โต 3-5% เดินหน้ากลยุทธ์ 4 เสาหลักลงทุนเพิ่มความยั่งยืน
นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, ไพรเวทแบงกิ้ง กรุ๊ป ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในปี 2565 มีความท้าทายเป็นอย่างสูง จากราคาที่ปรับตัวลงแรงในแทบทุกสินทรัพย์หลัก นับเป็นเพียง 3 ปี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ปรับตัวลดลงพร้อมๆ กัน โดยผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลกและพันธบัตรรัฐบาลโลกนับจากต้นปีปรับตัวลดลงถึง -17.9% และ -16.8% ตามลำดับ (ข้อมูล ณ 16 ธ.ค.) แม้ว่าพันธบัตรจะถือเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยก็ตาม ซึ่งเกิดขึ้นจากปัจจัยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปราบเงินเฟ้อ ในปีนี้เฟดได้ปรับดอกเบี้ยขึ้นไปแล้ว 7 ครั้ง อยู่ที่ 4.25% ซึ่งส่งผลต่อตลาดการลงทุนมีความผันผวน และคาดว่าในปี 2566 จะขึ้นอีก 2 ครั้ง จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5.0-5.1%
อย่างไรก็ตาม ตลอดปี 2565 ผลกระทบจากตลาดลงทุนทุกสินทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง ทำให้มูลค่าสินทรัพยฺ์ภายใต้การจัดการ (AUM) ของ KBank Private Banking ในปี 2565 จนถึงปัจจุบันปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 8.72 ล้านบาท โดยติดลบ -1% หรือลดลงราว 2.2 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือว่าติดลบน้อยกว่าภาพรวมตลาด ส่วนหนึ่งเพราะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาด้วยประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ปีนี้มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นราว 120 ราย ปัจจุบันให้บริการลูกค้าประมาณ 13,000 ราย
นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ตลอดปีที่ผ่านมา KBank Private Banking ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนให้ความสำคัญกับการสร้างพอร์ตที่มีความคล่องตัวสูง รองรับสถานการณ์ที่ผันผวน กระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก และยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยพอร์ตลงทุนที่แนะนำลูกค้าอย่าง K-ALPHA มีการจัดการความเสี่ยง และกระจายการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ตั้งแต่สินทรัพย์สภาพคล่อง กองทุนผสมในฐานะพอร์ตหลัก (Core Port) กองทุนรวมหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลก ตลอดจนสินทรัพย์นอกตลาดอย่างกองทุนหุ้นนอกตลาด ยังคงสามารถรักษาระดับผลตอบแทนอยู่ระหว่าง - 3.8 และ-5.5% นับจากต้นปี ในขณะที่ผลตอบแทนขาดทุนสูงสุด อยู่ระหว่าง -5.7% และ -8.3% หากเทียบกับการกระจายการลงทุนแบบดั้งเดิม (หุ้น 60: ตราสารหนี้ 40) ให้ผลตอบแทนที่ -14.8% ในขณะที่ผลตอบแทนขาดทุนสูงสุดที่ -23.8% หรือหากเทียบกับการลงทุนในหุ้น หรือตราสารหนี้อย่างเดียวให้ผลตอบแทนที่ -15.0% และ -14.4% ในขณะที่ผลตอบแทนขาดทุนสูงสุดที่ -26.1% และ -21.9% (ณ 14 ธ.ค.65)ตามลำดับ
"ปีนี้เป็นปีที่นักลงทุนบาดเจ็บมากที่สุด เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเรา เพราะตลาดมีความผันผวนมากขึ้น แต่ลูกค้าเราติดลบน้อยกว่าตลาด เราแนะให้ปรับสัดส่วนการลงทุนจะลดลง และเพิ่มสัดส่วนการถือเงินสดมากขึ้น โดยสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 63% และฝากเงิน 37% โดยธนาคารยังคงแนะนำให้ลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้น้อยปรับพอร์ตให้น้ำหนักฝากเงินเพิ่มขึ้น ในช่วงปลายเดือน ต.ค. เราเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ตลาดเริ่มกลับมา ก็เป็นโอกาสบนความท้าทายในปี 2566”
สำหรับทิศทางการลงทุนในปี 2566 นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้าย ปี 2565 นี้ ตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากสัญญาณบวกหลายปัจจัยทั้งผลประกอบการไตรมาส 3 ที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มอ่อนแอลง และมีแนวโน้มจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาชะลอตัวอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดความเร็วการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหลือระดับ 0.25%-0.50%ในปีหน้า เพราะฉะนั้น กลยุทธ์การลงทุนในปี 2566 ที่ KBank Private Banking แนะนำจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีจุดเปลี่ยน (PIVOT) ที่สำคัญคือ การแตะจุดสูงสุดของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) 10 ปีสหรัฐฯ ซึ่งจะเคลื่อนไหวตามแรงโน้มถ่วงของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ดังนี้
กลยุทธฺ์การลงทุนในช่วง“ก่อน” บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็วในไตรมาส 1 จนถึงไตรมาส 2 ปีหน้า คือ 1. ลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น 2. เน้นการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพสูง เช่น หุ้นบริษัทที่ความสามารถในการแข่งขัน และกำหนดราคา ทำให้สามารถเป็นผู้ชนะในภาวะเงินเฟ้อสูงได้ 3. กระจายความเสี่ยงผ่านสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุน Hedge Fund และ 4. กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์นอกตลาดที่มีความผันผวนด้านราคาในระยะสั้นต่ำ
ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในช่วง “หลัง” บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุด คือ 1. ลงทุนบางส่วนในทองคำ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐฯ จะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นอ่อนค่าลง 2. หุ้นกู้เอกชนผลตอบแทนสูง (High Yield) จะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง 3. ทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น หากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพื่อต้านทานภาวะเศรษฐกิจถดถอยชัดเจนขึ้น
“ในปีหน้า ต้องจับตาจุดเปลี่ยนหรือจุดหมุนให้ดี ในช่วงครึ่งปีแรก การเริ่มกลับมาของทอง ซึ่งจะเคลื่อนไหวสวนทางกับดอลลาร์ หากเงินเฟ้อไม่พลิกผันจากเดิมที่อ่อนแอในตอนนี้ เชื่อว่าปปีหน้าการลงทุนน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ทั้งตลาดหุ้นและบอนด์ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ตลาดหุ้นลงลึกมาก น่าจะรับรู้ข่าวการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรวม 9 ครั้งถึงปีหน้าไปแล้ว หากปีหน้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จะเกิดช่วงสั้นๆ ตื้นๆ ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งจะเป็นจังหวะการลงทุนของตลาดหุ้นที่ยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมา แต่สัญญาณบวกจะเห็นชัดๆในครึ่งปีหลัง ปีหน้าจึงแนะนำลดการถือเงินสด เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ"
นายจิรวัฒน์ กล่าว่า ในปี 2566 ธนาคารจะยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมความแข็งแกร่งของโซลูชันใน 4 เสาหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย การลงทุนบนหลักการ Risked-based Asset Allocation การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก การลงทุนเพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งขึ้นในการสร้างการเติบโต เก็บรักษา และส่งต่อความมั่งคั่งของลูกค้าต่อไปในอนาคต พร้อมกับตั้งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจไพรเวทแบงกิ้ง ทั้งจำนวนลูกค้าและ AUM เพิ่มขึ้น 3-5%จากปีนี้
สำหรับความสำเร็จที่โดดเด่นในปี 2565 ผ่าน 4 เสาหลักของโซลูชันการบริหารความมั่งคั่งครบวงจร ของ KBank Private Banking ประกอบด้วย
-กองทุน K-ALLROAD Series นวัตกรรมการลงทุนขับเคลื่อนอัตโนมัติ บนหลักการ Risk-based Asset Allocation ยังคงได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า จากจุดเด่นในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างยืดหยุ่นตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป ทำให้กองทุนมีสมดุลด้านความเสี่ยง โดยทั้ง 3 กองทุนในซีรีส์นี้สามารถระดุมเงินลงทุนจากลูกค้าไปได้กว่า 5.4 พันล้านบาท (ณ 1 ธ.ค. 65)
-การนำเสนอนวัตกรรมการลงทุนทางเลือก เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในภาวะผันผวน โดย KBank Private Banking มุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และสำหรับ 3 กองทุนที่เสนอขายครั้งแรกในปีนี้ ได้แก่ กองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วโลก (K-GPE22B-UI) กองทุนตราสารหนี้และหุ้นนอกตลาดทั่วโลก (K-GPA22A-UI) และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทยนอกตลาด (ASP-APR-UI (KEX)) โดยทั้ง 3 กองทุนสามารถระดมเงินลงทุนรวมสูงถึง 5 พันล้านบาท (ณ 1 ธ.ค. 65)
-การลงทุนเพื่อความยั่งยืน เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยสร้าง “ทางรอด” ให้กับโลกและการเติบโตที่มั่นคงให้กับทั้งธุรกิจและการลงทุนในระยะยาว ซึ่งกองทุนหลักที่ธนาคารแนะนำอย่างกองทุนเปลี่ยนโลก (K-CHANGE) ยังคงมีผลตอบแทนที่ดี โดยกองทุนหลักสามารถสร้างผลตอบแทนนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนได้สูงถึง 197% หรือเฉลี่ย 20.07% ต่อปี (ณ 1 ธ.ค. 65)
-บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว ได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันให้บริการลูกค้า 790 ครอบครัว (จำนวนลูกค้า 4,000 ราย) หรือราว 36% ของลูกค้าทั้งหมด 13,000 ราย และมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การดูแลครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัวทั้งธุรกิจและที่ดินประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ในขณะที่บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้บริการที่ปรึกษาครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์มูลค่ารวม 3.2 แสนล้านบาท (ที่ดิน 3,300 แปลง) จำนวนลูกค้ารวม 467 ราย นอกจากนี้ ยังมีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ Land Loan for Investment เพื่อแปลงทรัพย์สินที่ดินมาเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน ซึ่งมีลูกค้าราว 150 ราย มูลค่าที่ดินราว 40,000 ล้านบท คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อที่อนุมัติแล้ว 1.8 พันล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจ KBank Private Banking ในปี 2565 จากการส่งมอบโซลูชันบริหารความมั่งคั่งที่ครบวงจร ทำให้ธนาคารได้รับ 11 รางวัล จาก 10 สถาบันระดับสากลทั่วโลกการันตีและตอกย้ำความเป็นผู้ให้บริการไพรเวทแบงก์ชั้นนำของประเทศไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่าระดับสากล อาทิ รางวัล Best Private Bank ของประเทศไทยจากหลายสถาบันระดับโลก เช่น เวที The Asset Triple A Private Capital Awards เวที PWM/The Banker Global Private Banking Awards และเวที Global Private Banking Innovation รวมถึง รางวัลด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน Best Bank for Sustainability and ESG leadership จากเวที Private Banker International Global Wealth Awards ด้วยความมุ่งมั่นในการผลักดันให้นักลงทุน สังคม และประเทศก้าวไปสู่การลงทุนอย่างยั่งยืน
พร้อมกับนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนให้กับลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงของธนาคารตลอดหลายปีที่ผ่านมา และรางวัลด้านดิจิทัล เช่น Best Private Banking for Digital Marketing & Communication in Asia จาก PWM Wealth Tech Awards และ Digital Private Banking of the Year – Thailand จาก The Asset Triple A: Digital Awards จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการทำงาน สนับสนุนการให้บริการลูกค้า รวมถึงใช้เป็นช่องทางสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ