Krungthai Global Market คาดเงินบาทวันนี้ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 37.85-38.15 บาท/ดอลลาร์ หลังเมื่อวานอ่อนค่าแตะ 38.40 ผิดหวัง กนง. ไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย แนะผู้ประกอบการ ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น
คุณพูน พาณิชพิบูล นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Market ธนาคารกรุงไทย มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.85-38.15 บาท/ดอลลาร์
โดยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.30 บาทต่อดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ภาวะตลาดการเงินเปิดรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลงได้บ้าง ทั้งนี้ ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทย และที่สำคัญ อาจเริ่มกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวไทยได้บ้าง หลังจากที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวของไทยได้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควร และบอนด์ยีลด์ทั่วโลกก็พลิกกลับมาปรับตัวลดลง
นอกจากนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ ทำให้แนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 38.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงนี้
อย่างไรก็ดี แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ หลังจากที่ กนง. ยังคงเน้นย้ำท่าทีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ตลาดเริ่มคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ย ขณะเดียวกันภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดก็อาจอยู่ได้ไม่นาน และยังคงไม่เปลี่ยนภาพของตลาดที่เป็น Bear Market Rally จนกว่าจะเห็นจุดกลับตัวที่ชัดเจนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งอาจเกิดขึ้น เมื่อเฟดส่งสัญญาณไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ย พร้อมกับภาพเศรษฐกิจโลกที่ไม่ได้เลวร้าย จนมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ชัดเจน
อนึ่ง หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอจังหวะการย่อตัวของเงินบาทในการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้แนวรับของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 37.80-37.90 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงนี้
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก
ขณะที่บรรยากาศในตลาดการเงินโลก พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้อีกครั้ง หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษระยะยาวแบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อลดความผันผวนในตลาดบอนด์อังกฤษ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ (Gilt-10y) ปรับตัวลดลงกว่า 50bps สู่ระดับ 4.01% และยังส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลกต่างปรับตัวลดลงตาม โดยในฝั่งสหรัฐฯ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวลงกว่า 28bps สู่ระดับ 3.73% ซึ่งการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดกลับเข้าซื้อหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อีกครั้ง (Meta +5.4%, Amazon +3.2%, Alphabet +2.6%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +2.05% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.97%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.30% หลังจากที่ในช่วงแรกตลาดปรับตัวลงแรงจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและวิกฤตพลังงานในยุโรป จนกระทั่งตลาดตอบรับการประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลของ BOE ทำให้ตลาดทยอยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่า อานิสงส์ของการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์ในฝั่งยุโรป อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดกลับเข้ามาซื้อหุ้นเทคฯ อย่าง ASML, Adyen ซึ่งจะช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นยุโรปมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ในวันนี้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวผันผวน ก่อนที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 112.6 จุด (-1.8%) หลังจากที่ตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) รวมถึงเงินยูโร (EUR) กว่า +1.5% หลังจากที่ BOE ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษแบบไม่จำกัดจำนวนและช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงิน
อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรติดตามผลกระทบของมาตรการดังกล่าว ควบคู่ไปกับท่าทีของรัฐบาลอังกฤษว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการลดภาษี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลอังกฤษให้กลับมาได้หรือไม่ เพราะหากรัฐบาลอังกฤษยังยืนกรานใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ก็มีโอกาสที่มาตรการลดความผันผวนของตลาดการเงินโดย BOE อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะหยุดการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์อังกฤษและหยุดการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ได้
ทั้งนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้น +2.6% กลับสู่ระดับ 1,666 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ใกล้โซนแนวต้านแถว 1,680-1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรดังกล่าวก็มีส่วนที่จะช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้
สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ซึ่งตลาดมองว่า อาจขยายตัวต่อเนื่องกว่า +60%y/y ตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งภาพดังกล่าวจะยังคงหนุนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามที่มีโอกาสโตกว่า +8%y/y ได้ในปีนี้ และหากข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ก็อาจช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นเวียดนาม (ดัชนี VN Index) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับได้เช่นกัน
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยเพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามผลกระทบของการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวแบบไม่จำกัดจำนวนของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ว่าจะสามารถลดความผันผวนและชะลอการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งอาจต้องขึ้นกับท่าทีของรัฐบาลอังกฤษในการปรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนลดภาษี