บมจ.ไอร่า แฟคตอริ่ง ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ยกระดับการให้บริการเป็นรูปแบบดิจิตอลทั้งหมด ประกาศตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปีนี้แตะ 22,500 ล้านบาท มั่นใจรายได้ทั้งปีโต 18% เตรียมเปิดใช้ระบบแฟคตอริ่งออนไลน์ ไตรมาส 3 ปีนี้
นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AF ผู้นำด้านการให้บริการเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้นแก่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เปิดเผยถึงแนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมธุรกิจการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการแข่งขันที่สูง เนื่องจากมีผู้ให้บริการแฟคตอริ่งรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการแข่งขันที่สูงทำให้อุตสาหกรรมมีการพัฒนาและเติบโตขึ้น โดยจะเห็นได้จากตลาดแฟคตอริ่งในปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้กลุ่มผู้ให้บริการแฟคตอริ่งรายเดิมต้องปรับกลยุทธ์เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของตัวเอง ทั้งนี้การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ AF เดินเกมรุกเพื่อสร้างการเติบโตมุ่งมั่นสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนธุรกิจที่ชัดเจนที่วางไว้ 2-3 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นการยกระดับการให้บริการของ AF เป็นรูปแบบดิจิตอลทั้งหมดตั้งแต่การสมัคร การพิจารณาสินเชื่อ และการให้บริการ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนความต้องการทางด้านการเงินให้ลูกค้าอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัทฯ
ปัจจุบัน AF มีการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง ให้บริการลูกค้าผู้ประกอบการที่มีการทำธุรกรรมทางการค้าในประเทศ (Domestic Factoring) และขยายความสัมพันธ์ สร้างพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินในการสนับสนุนวงเงินแฟคตอริ่งให้แก่ Supplier ของลูกค้ากลุ่มนี้ AP Financing Program (AFP) สู่การต่อยอดไปยังนวัตกรรมการปล่อยสินเชื่อ “แฟคตอริ่งออนไลน์”ภายใต้การให้บริการทางการเงินในรูปแบบ Non-Bank รายแรกในประเทศไทย ซึ่งแฟคตอริ่งออนไลน์ เป็นบริการยื่นขอสินเชื่อแฟคตอริ่งใหม่ล่าสุด ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ในประเทศไทย ที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยสามารถสมัครขออนุมัติวงเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านช่องทางออนไลน์ของ AF ซึ่งต่างจากรูปแบบเดิมที่ต้องติดต่อผ่านเจ้าหน้าที่เท่านั้น จึงลดเวลาในการให้บริการลง
สำหรับการบริการสินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์นั้น บริษัทฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยเฟสแรกจะให้บริการ Upload เอกสารขอสินเชื่อกับกลุ่มคู่ค้าของผู้ซื้อรายใหญ่ที่เป็นพันธมิตร AF ทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่ม Micro SMEs เป็นหลัก โดยเบื้องต้นบริษัทฯ ตั้งเป้าพิจารณาปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งฯ ให้กลุ่มลูกค้าเฉลี่ย 10 รายต่อเดือน ภายในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย
โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีประวัติการค้ากับผู้ซื้อที่ดี และยังได้ตั้งเป้าผู้ใช้บริการขอสินเชื่อรูปแบบดังกล่าวปีนี้ กว่า 40 ราย ภายใต้วงเงินการปล่อยสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ส่วนการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ เฟสที่ 2 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ในการบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้หากแผนการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ทั้ง 2 เฟสแล้วเสร็จ บริษัทฯ ตั้งเป้าอัตราการเติบโตของกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการสินเขื่อแฟคตอริ่งออนไลน์ ในปี 2567 เพิ่มขึ้นประมาณ 50% โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยวงเงินสินเชื่อรวมที่ระดับ 100 ล้านบาท ซึ่งการเปิดให้บริการ “สินเชื่อแฟคตอริ่งออนไลน์” ของ AF ในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทฯ ก้าวมุ่งการเป็นผู้ให้บริการแฟคตอริ่ง ออนไลน์รายแรกในกลุ่ม Non-Bank ของการเป็นผู้ให้บริการแฟคตอริ่งในประเทศไทย
นอกจากนี้ AF ยังมีรูปแบบการให้บริการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง ภายใต้ “GREEN PROJECT” หรือ โครงการการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ ประหยัดพลังงาน โดยบริษัทฯ เริ่มมีการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบกับด้านพลังงานไปแล้ว 2-3 ราย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการปล่อยสินเชื่อรวมกว่า 50 ล้านบาท และคาดว่าภายในไตรมาส 3/2566 นี้ จะสามารถปิดดีลปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจอาหารและบริการด้านสุขภาพ ภายใต้มูลค่าสินเชื่อประมาณ 100 ล้านบาทด้วยเช่นเดียวกันทั้งนี้บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อ GREEN PROJECT เนื่องเป็นธุรกิจที่อนาคตสดใสและสามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน บริษัทฯ จึงพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ในการพัฒนาและเติบโตทางธุรกิจ และเชื่อว่าการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินการของ AF ให้มีความยั่งยืนตามแนวทาง ESG
นายอัครวิทย์ กล่าวตอกย้ำว่า จากแผนการมุ่งเน้นให้สินเชื่อประเภทแฟคตอริ่ง ส่งผลให้บริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้จาก 226 ล้านบาทในปี 2565 สู่การแตะระดับ 260 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 18% ขณะที่เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อจาก 18,000 ล้านบาท เป็น 22,500 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งคิดเป็นอัตรา 25% โดยในครึ่งปีแรกของปี 2566 AF มีการปล่อยสินชื่อแฟคตอริ่งรวมแล้วว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นกว่า 11% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ SMEs ของทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5-10% ต่อปี ซึ่งการเพิ่มขึ้นของSMEs ส่งผลเชิงบวกต่อบริษัทฯ ในการขยายฐานกลุ่มลูกค้าโดยบริษัทฯ สามารถให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่งแก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และผลกำไรของบริษัทฯ ในอนาคต”