"ดร.เศรษฐพุฒิ“ พร้อมปรับนโยบายดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ การเติบโตของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางที่คาด แต่อาจมีความเสี่ยงด้านต่ำมากขึ้น พร้อมจับสัญญาณภาวะตึงตัวในระบบการเงิน ส่วนเฟดจ่อลดดอกเบี้ย ขอติดตามดูเงินทุนเคลื่อนย้าย-อัตราแลกเปลี่ยน ด้าน “สักกะภพ” ระบุ 8 เดือนเงินบาทแข็งค่ากลับมายืนเท่าระดับต้นปีนี้แล้วและมีความผันผวนน้อยลงกว่าปีก่อน
ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท. ) กล่าวถึงมติคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง. ) ครั้งล่าสุด (21 ส.ค.) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ว่า การพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินจะดู 3 ปัจจัยสำคัญ คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ,ภาวะเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งธปท.พูดมาตลอดว่า การพิจารณาจะยึดหลัก Outlook Dependent หากเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ธปท.ก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบาย จากสถานการณ์เศรษฐกิจมีการเติบโตเข้าสู่ระดับศักยภาพราวๆ 3%หย่อนๆ แต่สัญญาณความเสี่ยงด้านต่ำ ตัวเลขเศรษฐกิจ ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา การลงทุนของภาคเอกชนที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เริ่มกลับเข้าสู่กรอบล่าง 1-3% และยังไม่เห็นสัญญาณเกิดภาวะเงินฝืด
แต่สิ่งที่กังวล คือ เสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากกว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริง แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นเกิดภาวะตึงตัวในระบบการเงิน ซึ่งจะติดตามกันต่อไป และพร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป หากมีความตึงตัวมากกว่าที่ควรจะเป็น
“ในการประชุม กนง.ทุกครั้ง จะพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน ถ้าแนวโน้มออกมาใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ก็มองว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ย แต่ถ้าแนวโน้มปรับเปลี่ยนไป เราก็ไม่ได้ปิดกั้นที่จะปรับเปลี่ยนนโยบาย ในการแถลง กนง. ล่าสุด คณะกรรมการแสดงความห่วงใยเรื่องเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น”
สำหรับประเด็นธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยนโยบายลงนั้น จะเป็นแรงกดดันให้ไทยต้องปรับลดดอกเบี้ยตามหรือไม่ ดร. เศรษฐพุฒิ ตอบว่า กรณีที่เฟดส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้นอกเหนือไปจากที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม กนง. ดำเนินนโยบายการเงิน จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเป็นหลัก แต่ก็ยังคำนึงถึงปัจจัยที่จะ กระทบ เช่น การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลัก ที่จะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยน
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งในปัจจุบันหลังจากที่อ่อนค่ามานาน ว่า ปีนี้ ในช่วงราว 8 เดือน ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ระดับเท่าต้นปีนี้ ซึ่งทำให้เงินบาทไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยและพบว่าปีนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ยังมีความผันผวนที่น้อยกว่าปีที่แล้ว โดยมีความผันผวนราว 5% หรือเป็น single digit เดียว ถือว่าน้อยกว่าปีที่แล้วผันผวนสูงถึง 2 digit หรือ 10%ขึ้นไป พร้อมกันนี้ สกุลเงินบาทยังเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มเพื่อนบ้านด้วย