เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เปิดเช้านี้ 36.25บาท/ดอลลาร์ ล่าสุดทำสถิติใหม่ทะลุ 36.30 บาท/ดอลลาร์ ถือเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากสุดในเอเชีย Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดจะอยู่ที่ 36.15-36.50 บาท/ดอลลาร์ ชี้ผู้เล่นในตลาดกลับมาให้ความสนใจผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ หลังจากได้รับรู้ผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ไปแล้ว
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.25 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนหนัก (แกว่งตัวในช่วง 35.86-36.23 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการรีบาวด์ขึ้นทดสอบโซนแนวต้านสำคัญของราคาทองคำ ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุม FOMC ก่อนที่เงินบาทจะพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง จากการที่เฟดยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งและคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น
แม้ว่าเฟดอาจมีสมมติฐาน “No Landing” ต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะสะท้อนผ่านการปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีนี้ และปีหน้าขึ้น แต่บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับถูกกดดันจากท่าทีของเฟดที่ยังคงส่งสัญญาณพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ (แม้จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งนี้) และท่าทีของเฟดที่อาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น (Higher for Longer) โดยภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.40% กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลงแรง Nvidia -2.9%, Microsoft -2.4%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -1.53% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.94%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.91% หนุนโดยการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ฝั่งยุโรป (ก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุม FOMC) ตามรายงานอัตราเงินเฟ้ออังกฤษที่ชะลอลงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ก่อนจะรับรู้ผลการประชุม FOMC (หลังตลาดหุ้นยุโรปปิดทำการแล้ว)
ในฝั่งตลาดบอนด์ Dot Plot ใหม่ของเฟดที่สะท้อนแนวโน้มว่าเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด (เดิมเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -100bps ใน Dot Plot ก่อนหน้า แต่ Dot Plot ใหม่ ชี้ว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงเพียง -50bps) และมุมมองของเฟดที่อาจมีสมมติฐาน “No Landing” ต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทะลุโซน 4.40% (สอดคล้องกับมุมมองที่เราได้คาดการณ์ก่อนหน้า!) ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว sideway ในระดับสูง ไปจนกว่า ตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจไม่ได้สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจที่ “สดใส” อย่างที่เฟดคาดการณ์ไว้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีโอกาสปรับตัวลดลงได้พอสมควร เช่นอาจลงมาทดสอบระดับ 4.00% ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ ในระยะสั้น อาจมีความเสี่ยงจากทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักอื่นๆ ทั้ง BOE และ BOJ ที่อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังเคลื่อนไหวผันผวนได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.5 จุด (กรอบ 104.6-105.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้าน 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจยังคงเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับวันนี้ หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดได้รับรู้ผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ไปแล้ว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะกลับมาให้ความสนใจ ต่อผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) หลังจากที่ล่าสุด รายงานอัตราเงินเฟ้ออังกฤษที่ชะลอลงกว่าคาด สู่ระดับ 6.7% (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ระดับ 6.2%) ทำให้ตลาดเริ่มประเมินว่า BOE อาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25% อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า อัตราเงินเฟ้ออังกฤษยังอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง แรงกดดันเงินเฟ้อจากค่าจ้างก็ยังมีอยู่ (wage growth ล่าสุดยังคงสูงกว่า +8.5%y/y) ทำให้ BOE อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย +25bps สู่ระดับ 5.50% ทั้งนี้ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ การส่งสัญญาณของ BOE ว่าพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ และ BOE มีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างไร
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายอมรับว่า เงินบาทอาจอ่อนค่าไปได้มากกว่าที่เราเคยประเมินไว้ และเงินบาทอาจอยู่ในโซนอ่อนค่าได้นานกว่าคาด (Weaker for Longer) ตามทิศทางเงินดอลลาร์ที่ยังคงได้แรงหนุนจากแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้นกว่าคาดของเฟด นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมเสี่ยงที่จะยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และนักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยในระยะสั้นนี้
อนึ่ง เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE (ในช่วงเวลาราว 18.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจตอบรับการขึ้นดอกเบี้ยของ BOE ที่สวนทางกับคาดการณ์ของตลาดในเชิงลบได้ โดยตลาดอาจตีความว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ BOE อาจยิ่งกดดันให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวลงมากขึ้น ส่งผลให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) เสี่ยงที่จะอ่อนค่าลงต่อ ซึ่งภาพดังกล่าวได้เกิดขึ้นหลังการประชุม ECB ล่าสุด ที่เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง แม้ว่า ECB จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยก็ตาม
นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทะลุทุกโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ ทำให้เรามองว่า มีโอกาสที่เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อทดสอบโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่า ในโซนดังกล่าวไปจนถึงช่วง 37 บาทต่อดอลลาร์ ในเชิง Valuation ค่าเงินบาทถือว่า “Undervalued” หรือ ถูกพอสมควร ทำให้มีโอกาสที่เงินบาทอาจเริ่มแกว่งตัว sideways หรือ พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่โซนแนวรับในช่วงนี้ อาจสูงถึง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าเงินบาทจะพลิกกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน โดยจะมีโซน 35.80 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับถัดไป
เรายังคงมองว่า ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.15-36.50 บาท/ดอลลาร์