Economies

KTBST ชี้เอฟเฟคมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย น้ำมันพุ่งซ้ำเติมเงินเฟ้อ ห่วงซัพพลายเชน หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ร่วง
28 ก.พ. 2565

KTBST SEC  ส่องผลกระทบมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย หยิบเล็บเจ็บเนื้อ วิเคราะห์Sanction 3 กรณีฉุด เศรษฐกิจยุโรป  ระวัง! น้ำมันพุ่ง ซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ปัญหา supply chain กระทบอุตสาหกรรมชะงัก ด้านหุ้นไทย กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ร่วง 7%

 

ในทันทีตลาดหุ้น ราคาน้ำมัน ทองคำ ขยับตัวรับสถานการณ์หลังผู้นำรัสเซียประกาศบุกยูเครนด้วยกำลังทางทหารเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา บทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอส (KTBST SEC) ได้วิเคราะห์และมีคำแนะนำการลงทุนมานำเสนอ แต่ก่อนไปถึงเรื่องการลงทุน สถานการณ์นี้มีประเด็นที่ติดตามเกี่ยวกับบทบาทของประเทศรัสเซียกับยุโรปต่อจากนี้ ดังต่อไปนี้

 

ชนวนสงครามรัสเซีย-ยูเครน

กำแพง “ม่านเหล็ก" (Iron Curtain) ถูกกั้นขึ้นช่วงหลังสงครามเย็นในปี 1945 เป็นสัญลักษณ์เชิงอุดมการณ์ของการแบ่งแยกกลุ่มประเทศออกเป็น 2 ค่าย และมีกำแพงเบอร์ลินที่ก่อขึ้นในปี 1961 เพื่อแยกเยอรมันออกเป็น 2 ดินแดน เป็นหลักฐานกลุ่มประเทศตะวันตกในยุโรปได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ขณะที่ฝั่งตะวันออกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมินิสต์จากโซเวียต

 

เพื่อเป็นการปกป้องกลุ่มประเทศตนเองจากอิทธิพลของคอมนิวนิสต์รัสเซียและจากกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกที่ได้ตั้ง องค์กรสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pack Organisation)“ (ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว) จึงจัดตั้งองค์กรนาโต (North Atlantic Treaty Organization :NATO) เพื่อรับมือและมีอิทธิพลมาจนถึงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการบุกยูเครนโดยรัสเซียครั้งนี้

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประธานาธิบดีรัสเซียคนปัจจุบันใช้กำลังทางทหารรวมถึงอำนาจอิทธิพลของประเทศตนเองเข้าไปควบคุมดินแดนในอดีตสภาพโซเวียต ก่อนหน้านี้ ภายใต้การนำของอดีตหน่วยสืบราชการลับ KGB ได้เข้าควบคุมดินแดนในเชชเนีย ด้วยกำลังทางทหารในปี 2006 และในดินแดนไครเมียในเดือน 2014 ด้วยการรับรองการลงประชามติของประชาชนไครเมียเพื่อมาอยู่ภายใต้รัสเซีย แม้จะมีการคัดแค้นจากชาติสมาชิกนาโต้

 

อนึ่ง ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประชากร เชื้อชาติ ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่ได้แยกออกจากกันตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาของประเทศรัสเซียกับหลายประเทศในอดีตสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะยูเครน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัสเซียและผู้คนหลายกลุ่มในประเทศเหล่านี้ยังคงมีความสัมพันธ์กับรัสเซียเห็นได้จากการแยกดินแดนเมือง ดอแนสก์และลูฮานสก์ เป็นแคว้นอิสระออกจากยูเครนด้วยการรับรองจากรัสเซีย รวมถึงประเทศอื่นๆในด้านเศรษฐกิจด้วย แต่อิทธิพลและการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯและชาติพันธมิตรในการใช้องค์กรนาโต (ซึ่งเป็นองค์การทหาร) มาเป็นเหตุเพื่อคานอิทธิพลของรัสเซียในยุโรปด้วยการพยายามดึงยูเครนให้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ จึงนำมาซึ่งความรู้สึกไม่มั่นคงในเชิงยุทธศาตร์ของรัสเซีย

 

มาตรการคว่ำบาตรกับผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่างๆ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดความกังวลในทันทีต่อเศรษฐกิจประเทศหลายของยุโรปที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียโดยเฉพาะเยอรมัน จากข้อมูลพบว่า การส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียเพิ่มขึ้นเป็น 32 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557 ผลจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น การส่งออกน้ำมันและก๊าซทั้งหมดของประเทศ รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว เพิ่มขึ้นกว่า 240,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 60% จากปี 2563 ทำให้รัสเซียมีดุลการค้าพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 67.6 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 แม้ว่าตัวเลขการนำเข้าของประเทศจะแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 เช่นกัน

 

ทั้งนี้ประเทศรัสเซียเป็นส่งน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ให้กับสหภาพยุโรป แม้ว่าราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้สหภาพยุโรปมีการขาดดุลการค้ากับรัสเซียเพิ่มขึ้นจาก 15.7 พันล้านยูโรเป็นยูโร 69.2 พันล้านยูโรในปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่ารัสเซียคือแหล่งความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรปและมีอำนาจเรื่องพลังงานเป็นตัวต่อรองกับประเทศต่างๆ

 

ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่ามาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียของนานาชาติในครั้งนี้ จะมีผลกระทบต่อยุโรป หรือไม่ อย่างไร..?

 

ฝ่ายวิเคราะห์ บล. เคทีบีเอส ประเมินผลต่อสถานการณ์การลงทุน ว่า การทำสงครามครั้งนี้ไม่น่าที่จะยืดเยื้อ เนื่องจากกำลังทหารที่แตกต่างกันรัสเซียจะสามารถเข้าควบคุมยูเครน แต่คาดว่าจะทำให้เกิดการมาตรการลงโทษตอบโต้ (Sanction) ต่อรัสเซีย ตั้งแต่ระดับตัวบุคคลหรือนักการเมืองในเรื่องธุรกรรมทางการเงิน ไปจนถึงการห้ามทำการค้ากับรัสเซีย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกรณีต่างๆได้ดังนี้ (ดูกราฟฟิกประกอบ)

 

กรณีแรก หากมีการ Sanction ระบบการเงิน หรือจำกัดการค้ากับประเทศอื่นๆ จะมีผลกระทบไปถึงตลาดเงิน และลามไปถึงความเสี่ยงของระบบการเงินของโลก ราคาสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe haven) จะปรับตัวสูงขึ้น อาทิ พันธบัตร ทองคำ เงินดอลล่าร์และเงินเยน

 

กรณีที่สอง ถ้าหากมีการ Sanction สินค้าส่งออกของรัสเซีย  จากข้อมูลการส่งออกของรัสเซียในช่วง 10 เดือนล่าสุดของปี 2021 มีมูลค่ารวม 3.88 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลักๆ ได้แก่ น้ำมันและสินค้าด้านพลังงาน สัดส่วน 54%ของมูลค่าส่งออกรวม  เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก สัดส่วน 11%  เคมีภัณฑ์ สัดส่วน 8% ผลิตผลทางการเกษตร สัดส่วน 7%  และเครื่องจักรและอุปกรณ์ สัดส่วน 6%

 

กรณีที่สาม การ sanction สินค้าด้านพลังงาน  KTBST SEC คาดว่าจะไม่มีการ sanction สินค้าด้านพลังงาน เพราะหากมีการห้ามซื้อน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย จะทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศในยุโรปอย่างหนัก เนื่องจากรัสเซียส่งออก “น้ำมัน-ก๊าซ” ไปยุโรปคิดเป็นประมาณ 40% ของสินค้าพลังงานโดยรวม อีกทั้งจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ และประเทศต่างๆ เจอปัญหาเงินเฟ้อที่ตามมาในทันที เราจึงเชื่อว่า US และยุโรปไม่น่าที่จะใช้มาตรการห้ามซื้อน้ำมันดิบและก๊าซฯจากรัสเซีย

 

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะสูงขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากความไม่แน่นอนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในลำดับต่อไปและปัญหาด้าน supply chain จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องด้วยรัสเซียและยุโรปเป็นฐานการผลิตและ จำหน่ายวัตถุดิบที่สำคัญๆ โดยเฉพาะเหล็ก การ sanction จะมีผลกระทบมาถึง supply chain ของอุตสาหกรรมต่างๆ ในแถบยุโรป ทั้งในรูปแบบของปริมาณการผลิตที่จะลดลง และต้นทุนในการผลิตที่จะสูงขึ้นตามความเสี่ยง

 

ฝ่ายวิเคราะห์ มองว่า ตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ว่ากลุ่ม Electronic จะปรับตัวลงมาแล้วประมาณ 7% ตั้งแต่ต้นปี แต่เชื่อว่าหุ้นกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบเชิงลบมากสุดจากความกังวลด้าน supply chain disruption และเงินเฟ้อหากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น จึงแนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นกลุ่ม Electronic ในช่วงนี้ไปก่อน ทั้ง KCE , HANA , DELTA , HTECH รวมถึงจะมีหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

จับตาการเปลี่ยนแปลงของยุโรป

หากกางแผนที่โลกในปัจจุบันดูเราก็จะเห็นเส้นแบ่งเขตแดนในทางภูมิศาตร์ (Geographic) ของแต่ละประเทศอย่างชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาเส้นแบ่งในทางภูมิรัฐศาตร์การเมือง (Geopolitics) แล้วจะแตกต่างออกไปอย่างแน่นอนเพราะความสัมพันธ์มิติต่างๆอย่างที่กล่าวไปข้างต้น นัยของการที่รัสเซียบุกยูเครนครั้งนี้ มีผลต่อยุโรปแทบทั้งหมด แม้จะเกิดการต่อต้าน แต่ก็ยังมีผลประโยชน์เศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาคร่วมกันหลายด้าน ดังนั้นการคว่ำบาตรรัสเซียของประเทศในยุโรป จะทำได้แค่ไหนภายใต้ผลประโยชน์ของประเทศที่เชื่อมโยงกันหลายด้าน

 

แต่แน่นอนว่าภูมิภาคยุโรปนับจากนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างน่าจับตามอง เป็นไปได้ทั้ง 2 ด้าน ทั้ง “ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น” หรืออาจจะมี “การเจรจาต่อรองเพื่อร่วมมือกัน” หรือจะเป็น 2 อย่างไปพร้อมๆกัน ก็เป็นไปได้

 

‘วลาดิมีร์ ปูติน’ กับการนำประเทศที่มีขนาดพื้นที่กว่าครึ่งโลกและแสนยานุภาพทางทหารขนาดใหญ่ กำลังขยับเดินบทบาทการเมืองในยุโรปที่สำคัญอีกครั้ง

 

อาจเป็นการเมืองบนโลกใบใหม่ของยุโรปและของโลกที่ขับเคลื่อนบนความท้าทาย ที่จะประสานผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่มีอุดมการณ์แนวคิดที่ต่างขั้วและภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com