Economies

กสิกรฯ ชี้ส่วนต่างดอกเบี้ยสูง ลากค่าบาทผันผวนสูง มองกนง.ขึ้นดอกเบี้ยถึงสิ้นปีนี้ ดึงเงินบาทแข็งค่าแตะ 35 บ./ดอลล์
23 ก.ย. 2565

แบงก์กสิกรไทย ชี้ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐ-เฟดสูง กดดันเงินบาทผันผวน คาด 28 ก.ย. ประชุม กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และต่อเนื่องในช่วงที่เหลือปีนี้ ดันดอกเบี้ยนโยบายสูง 1.25%  ในสิ้นปีนี้  ดึงเงินบาทแข็งขึ้นทางอ้อม คาดสิ้นปี 65 บาทแข็งแตะ 35 บาท/ดอลลาร์ เผยยังไม่เห็นต่างชาติเทขายหุ้น-บอนด์ในไทย

 

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท ว่า แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวนสูง จากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่า หลังจากที่เฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงอย่างต่อเนื่องถึงปีหน้า  เพื่อดึงเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดล่าสุด (21 ก.ย. )  ยิ่งทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ และไทย ขยายเพิ่มมากขึ้นประมาณ 2.5% โดยส่วนต่างดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทุก 0.25% ของเฟดที่สูงกว่าดอกเบี้ยไทย จะส่งผลต่อค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้น 0.38 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งยิ่งมีส่วนต่างดอกเบี้ยสูง จะยิ่งสร้างความผันผวนมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยมองว่า ทิศทางเงินดอลลาร์มีโอกาสที่จะปรับฐานมาอ่อนค่าได้ เนื่องจากหลายบริษัทเอกชนของสหรัฐฯทำธุรกิจทั่วโลก หากเงินดอลลาร์แข็งค่าจะกดดันให้กำไรของบริษัทเหล่านี้ลดลงหากนำส่งเงินกลับเข้าสหรัฐฯ  ปัจจุบัน สหรัฐมีรายได้จากต่างประเทศราว  2.1 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ผลจากเฟดเดินหน้าปรับดอกเบี้ยสูง จะยิ่งทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเมื่อดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง เฟดอาจจะต้องปรับนโยบายการเงินผ่อนคลายลงเป็นมุมมองที่ตลาดคาดการณ์ไว้

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทจะอ่อนค่าถึงระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์นั้น นายกอบสิทธิ์ มองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อย เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ใน วันที่ 28 ก.ย.นี้  คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี และปรับขึ้นอีกในช่วงที่เหลือปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2565 จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.75%  จึงมองว่า หาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ จะช่วยทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 37.00 บาทต่อดอลลาร์ได้จากปัจจุบัน (สิ้นวันทำการ 23 ก.ย.) ปิดตลาดที่ 37.34/36.00 บาท/ดอลลาร์ หากค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้จะช่วยลดภาระต้นทุนของผู้นำเข้าได้ส่วนหนึ่ง

ธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสซื้อขายอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ภายในสิ้นปี 65 จากสมมติฐานทั้งด้านการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวดี จะช่วยทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้ ขณะที่เฟดอาจจะปรับเปลี่ยนมุมมองมาให้ความสำคัญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 


นายกอบสิทธิ์ กล่าวถึงการเคลื่อนไหวเงินลงทุนต่างชาติ (Fundflow) ในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร (Bond) ของไทยว่า ยังไม่เห็นแรงเทขายทั้งในตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะค่าเงินบาทที่อ่อนกว่า 37 บาท/ดอลลาร์ หากเทียบกับต้นทุนช่วงที่ลงทุนซื้อสุทธิ ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ หากมีการขายบอนด์ออกมาจะรับรู้ผลขาดทุนถึง 4.8 หมื่นล้านบาท ประกอบกับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีและมีการเติบโตสูงกว่าสหรัฐ ทำให้ยังเป็นหลุมหลบภัยในการลงทุนช่วงนี้ได้

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com