ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 6/2564 วันที่ 29 กันยายน 2564 ซึ่งเผยแพร่ ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงิน การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและกลุ่มประเทศเอเชียแตกต่างกันมากขึ้น โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูง จึงมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดได้เร็ว ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีไม่มาก ขณะที่กลุ่มประเทศเอเชียได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สายพันธุ์ Delta ที่รุนแรงขึ้น และใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชน “แผ่วลง” หลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนไวรัสกลายพันธุ์ระบาด
สำหรับการส่งออกสินค้ายังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แต่เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานในโลก (global supply disruption) เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ ที่คาดว่าจะรุนแรงและยืดเยื้อถึงกลางปี 2565
-นโยบายการเงินที่แตกต่าง ฉุดตลาดการเงินผันผวนสูง
ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้นจากนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (AEs) ที่มีแนวโน้มทยอยลดการผ่อนคลาย โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เริ่มสื่อสารแนวทางการลดปริมาณการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (tapering) ที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป ภายหลังแนวโน้มเศรษฐกิจและการระบาดของ COVID-19 ในสหรัฐฯ ปรับดีขึ้น ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น
ค่าเงินและราคาสินทรัพย์ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (EMs) มีความผันผวน ประกอบกับมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มจากมาตรการตรวจสอบและควบคุมบางภาคธุรกิจในประเทศจีน และความเสี่ยงในการผิดนัดชชำระหนี้ของกลุ่ม บริษัท Evergrande1 อย่างไรก็ดี กองทุนรวมของไทยลงทุนในหุ้นกู้ของกลุ่มบริษัทดังกล่าวค่อนข้างน้อย จึงมีผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจำกัด
สำาหรับค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงขึ้นจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศ AEs และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่แน่นอน โดยเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวอ่อนค่าและแข็งค่าทั้งสองทิศทางตามตลาดการเงินโลกที่ผันผวน และมองไปข้างหน้า ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวนสูง
-Q3 เศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุด แนวโน้มฟื้นตัวช้าๆ
กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะข้างหน้า แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงคงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัว (GDP) ร้อยละ 0.7 และ 3.9 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ที่เลื่อนมาจากช่วงก่อนหน้า (pent-up demand) ในช่วงที่เหลือของปี 2564 จากพัฒนาการด้านวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3/2564 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดและการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลาย มาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปีหน้ามีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการส่งออก จะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหา global supply disruption
ทั้งนี้ ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เป็นสาเหตุสำคัญของประมาณการการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดชั่วคราวที่ -15.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นบวกเล็กน้อยที่ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 ตามสถานการณ์การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ที่คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 2564 มาอยู่ใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย จากราคาอาหารสด ที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะสูงขึ้นในระยะสั้น ส่วนปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ตามราคาอาหารสดที่จะเพิ่มขึ้นจากการคลี่คลายของปัญหาอุปทานสินค้าเกษตรส่วนเกินในประเทศ หลังจากที่สามารถกลับมาส่งออกได้มากขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ
ความเสี่ยงในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง โดยต้องติดตาม
1) แนวโน้มการระบาดและการกลายพันธุ์ของโควิด รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยว
2) การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคเอกชนหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งจะส่งผลต่อ การบริโภคและการลงทุน
3) ความต่อเนื่องของมาตรการของภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในระยะต่อไป
4) ปัญหา supply disruption และต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางเรือ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาค การผลิตและการส่งออกสินค้า
-คาดสิ้นปีคนตกงาน 3.4 ล้านคน ชูรัฐสร้างงาน
กนง.ย้ำว่า การฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันมากขึ้น (uneven recovery) ทำให้ตลาดแรงงานยังเปราะบาง ซึ่งประเมินว่าจำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 3.4 ล้านคน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งสะท้อน จากจำนวนลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่ขอรับสิทธิทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเห็นสัญญาณแรงงานเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาสูงขึ้นต่อเนื่อง
“ภาครัฐจึงควรดูแลภาคเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวหลังการระบาดสิ้นสุดลง(scarring effects) และโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ ดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด เพื่อเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ” ความเห็นของกนง.ระบุ
ในระยะต่อไป รัฐควรออกมาตรการที่เน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟู และยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจภายหลังโควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะการใช้จ่ายของภาครัฐควรเน้นโครงการที่มีประสิทธิผลสูง เช่น มาตรการที่รัฐช่วยสนับสนุน ค่าใช้จ่ายและภาคเอกชนมีส่วนร่วม (co-payment) เพื่อให้มีตัวทวีทางการคลังสูงและได้ผลในวงกว้างขึ้น รวมทั้งควรมีกระบวนการใช้จ่ายที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้โดยระยะต่อไป รวมถึงเน้นเพิ่มรายจ่ายลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างและยกศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว และจัดเก็บรายได้เข้ารัฐได้เร็ว ช่วยลดหนี้สาธารณะกลับสู่ภาวะสมดุลด้วย
-ชี้นโยบายลดดอกเบี้ยได้ผลน้อยกว่ามาตรการแก้หนี้
ด้านมาตรการการเงิน กนง.ยืนยันว่า นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีปัญหาในการกระจายสภาพคล่องที่มีอยู่มากไปสู่ธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ โดยล่าสุด มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูระยะที่ 1 เริ่มเดือน เมษายน – กันยายน 2564 ช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ได้ตามเป้าหมาย และเห็นความคืบหน้าการช่วยเหลือในโครงการต่างๆดีขึ้น การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้เห็นผลในวงกว้าง
“มาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%” กนง.ระบุ ที่มาของมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา