เงินบาท“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.76 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.90 บาท/ดอลลาร์ รอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน และถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงผลประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 3 ปี
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.76 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.79 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 35.73-35.87 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลง ตามการทยอยปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยลดความคาดหวังต่อโอกาสเฟดรีบลดดอกเบี้ย หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด อย่าง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการออกมาดีกว่าคาด โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดเริ่มไม่แน่ใจว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤษภาคมได้หรือไม่ ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินบาทได้ถูกชะลอลงบ้าง จากการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงออกมาดีกว่าคาด อาจทำให้เฟดไม่รีบลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดเคยประเมินไว้ และแม้ว่ามุมมองดังกล่าวจะกดดันบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Tesla -3.7%, Meta -3.3% ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia +4.8% หลังนักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ได้ปรับเป้าราคาขึ้นจากเดิมราว +20% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ย่อตัวลง -0.20% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.32%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.05% ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลาง (โดยเฉพาเฟด) ที่อาจช้ากว่าที่ผู้เล่นในตลาดเคยคาดหวังไว้ ทำให้บอนด์ยีลด์ในฝั่งยุโรปส่วนใหญ่ต่างปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Defensive อย่าง กลุ่ม Healthcare อาทิ Novo Nordisk +3.6% รวมถึงการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Semiconductor เช่น ASML +1.1% ที่ตอบรับข่าวการปรับเป้าราคาของหุ้น Nvidia ในสหรัฐฯ
ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเชื่อว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ย และเฟดอาจลดดอกเบี้ยราว -125bps ในปีนี้ ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.15% สอดคล้องกับ มุมมองที่เราเคยประเมินไว้ก่อนหน้า ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่อาจรีบาวด์ขึ้นได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยหลายครั้งของเฟด ดังนั้น เราจึงขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุนเมื่อมองภาพผลตอบแทนโดยรวม หรือ Total Return ซึ่งหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถปรับตัวขึ้น ทะลุระดับ 4.20% ไปได้ ก็จะมีความน่าสนใจในการทยอยเข้าซื้อเป็นอย่างมาก
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยและเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ก่อนหน้า ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงสู่โซนแนวรับสำคัญระยะสั้นแถว 2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่ราคาทองคำจะรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง สู่โซน 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจลดสถานะถือครองทองคำออกมาบ้าง เพื่อรอประเมินสถานการณ์และทิศทางราคาทองคำต่อไป ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะอยู่ในฝั่งยุโรปเป็นหลัก โดยผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซน ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนธันวาคม พร้อมกับจับตารายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (CPI Inflation Expectations) ที่สำรวจโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของ ECB ได้
นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึง ผลการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 3 ปี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ในช่วงนี้ได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่ยังได้แรงหนุนจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจไม่รีบลดดอกเบี้ยและลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ อย่างไรก็ดี ในช่วงวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาจไม่ใช่จุดสนใจของผู้เล่นในตลาด ทำให้ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงิน ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน เพราะหากข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน สะท้อนภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แย่กว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ECB มีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ “เร็วกว่า” เฟด ซึ่งมุมมองดังกล่าว อาจกดดันให้ เงินยูโร (EUR) ผันผวนอ่อนค่าลง และหนุนการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ได้
และนอกจากปัจจัยข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งยูโรโซน เรามองว่า ค่าเงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น จากที่ผู้เล่นในตลาดเคยประเมินไว้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของไทยล่าสุด ชะลอลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ทั้งนี้ เราประเมินว่า หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 35.90 บาทต่อดอลลาร์ (ที่เราเคยมองว่า อาจเป็นจุด Peak ในระยะสั้น เมื่อวันที่ 26 มกราคม ไปได้) ก็จะเปิดโอกาสให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่องทดสอบโซนแนวต้านสำคัญแถว 36.00-36.10 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก และจะเป็นการปิดฉากเทรนด์การแข็งค่าต่อเนื่องของเงินบาทนับตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา
ในช่วงนี้ เรายังคงพบว่า ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.70-35.90 บาท/ดอลลาร์