Economies

ThaiBMA ชี้เทรนด์ ‘หุ้นกู้เอกชนขอเลื่อนจ่าย` มากกว่าเบี้ยวจ่าย พร้อมคงเป้าปี 68 หุ้นกู้ออกใหม่ 8.5 -9 แสนลบ. เหตุ ดบ. ลงเร็วกว่าคาด หนุนต้นทุนต่ำ
3 เม.ย 2568

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ยืนยันคงเป้าหมายหุ้นกู้ออกใหม่ 8.5 -9 แสนล้านบาท ชี้ ท่ามกลางปัจจัยลบทำให้ดอกเบี้ยลดลงเร็วกว่าคาด  ส่งผลบวกต่อผู้ออกฯมีต้นทุนต่ำลง เผยต้นปีถึงปัจจุบัน ต่างชาติซื้อสุทธิ 1.8 หมื่นลบ ชี้หุ้นกู้เอกชนแก้เกมปัญหา default เป็น delay แทน  ส่วนภาพรวมไตรมาสแรก ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าค้างขยายตัว 2.2% จากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรภาครัฐเป็นสำคัญ  ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนมีมูลค่าคงค้างใกล้เคียงเดิม โดยหุ้นกู้กลุ่มเรทติ้งสูงมีมูลค่าการออกมากกว่าที่ครบกำหนด นอกจากนี้ผลสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไปราว 1-2 ครั้ง รวม 0.25-0.50% ในปีนี้

 

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ และนางสาวอริยา ตีรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ  สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ร่วมแถลงข่าวภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในไตรมาสแรกและแนวโน้มที่เหลือของปี 2568 ดังต่อไปนี้

 

แนวโน้มการออกตราสารหนี้ใหม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงคาดการณ์เป้าหมายที่ 8.5-9 แสนล้านบาท เนื่องจากมองว่าท่ามกลางปัจจัยลบที่เกิดขึ้นทั้งจากมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้กับประเทศต่างๆ รวมถึงไทย  การเกิดภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวในไทยและภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในกรอบจำกัด  แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากทิศทางดอกเบี้ยไทยลงเร็วกว่าที่คาด ขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ  2 ปี - 10 ปี ในช่วงที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว (1-3 เม.ย.) ปรับตัวลดลงราว 12-15 bps  ซึ่งจะเป็นแรงจุงใจให้ผู้ออกตราสารหนี้บางส่วนออกเร็วขึ้นหรืออกมากขึ้น  เพราะถือเป็นช่วงที่มีทุนต่ำลง ทั้งนี้ก็ขึ้นกับผู้ออกฯชั่งน้ำหนักด้วย ดังนั้น ThaiBMA จึงยังไม่ปรับเป้าในตอนนี้

 

สำหรับแนวโน้มเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (วันที่ 3 เมษายน) ยังมีฟันด์โฟลไหลเข้าสุทธิราว 1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ yield gap ของดอกเบี้ยสหรัฐ และ ไทย ในช่วงที่ผ่านมา ยังเคลื่อนไหวไปทิศทางเท่าๆกันแต่ในอนาคตผลกระทบจะเป็นอย่างไรต้องติดตามต่อไป โดยคาดว่า ช่วงที่เหลือในปีนี้ ดอกเบี้ยไทยจะลด 0.25% อีกหนึ่งครั้ง ส่วนเฟสจะลดดอกเบี้ยสองครั้ง“

 

ทั้งนี้ กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ในไตรมาสแรกของปี 2568 เป็นการซื้อสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 10,297 ล้านบาท โดยเป็นผลรวมของการขายสุทธิตราสารหนี้ไทย11,989 ล้านบาทในเดือนมกราคม ก่อนพลิกกลับมาเป็นการซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมรวม  22,286 ล้านบาท หลังจากการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีทรัมป์ทำให้การถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 เท่ากับ 8.74 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 5%ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตราสารหนี้ไทยที่ต่างชาติถือครองมีอายุคงเหลือเฉลี่ย 8.4 ปี ลดลงจาก 8.7 ปีเมื่อสิ้นปี 2567

 

สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568  มูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย  เท่ากับ 17.5 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.2% จากปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ที่ออกโดยภาครัฐเป็นสำคัญ ทั้งนี้ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 203,486 ล้านบาท ลดลง 1.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade โดยรวมมีการออกมากกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด ในขณะที่หุ้นกู้กลุ่ม High yieldมีการออกน้อยกว่ามูลค่าที่ครบกำหนด กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่ม Energy Property และ Finance ตามลำดับ

 

ส่วนปัญหาหุ้นกู้ผิดนัดชำระในไตรมาสแรก มีจำนวน 3 ราย  มูลค่ารวม 1,605 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียน 2 ราย ได้แก่ บมจ.โคลเวอร์ เพาเวอร์ [CV] 1 รุ่น 452 ล้านบาท และ บมจ.ช ทวี [CHO] 4 รุ่น 745 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัทนอกตลาด คือ บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล (WTX) 1 รุ่น 408 ล้านบาท และหุ้นกู้ขอเลื่อนกำหนดชำระ มูลค่ารวม 8,841 ล้านบาท จากผู้ออก 9 ราย

 

”แนวโน้มในปีนี้  เราไม่ได้คิดว่า จะมีหุ้นกู้เกิด Default (ผิดนัดชำระ)  เยอะ ทั้งจากความระมัดระวังของนักลงทุนมาตลอด และผู้ออกที่ตื่นตัวตลอด พอเห็นสัญญาณจะจ่ายไม่ได้  ส่วนใหญ่จะขอเจรจากับผู้ถือหุ้นกู้ก่อนเลย เพื่อขอ delay ออกไป โดยจะไม่ปล่อยให้เกิด default  ทำให้ไม่ค่อยเห็นประกาศว่าเป็น Default  แต่จะเห็นขอ delay เพิ่มมากขึ้นมากกว่า“

 

สำหรับการผิดนัดชำระหุ้นกู้ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์หลังเกิดแผ่นดินไหวและตึกถล่มเป็นอย่างไร ThaiBMA  คาดว่าถ้าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ เชื่อว่าจะไม่เกิดการผิดนัดชำระขึ้นแต่หากเป็นหุ้นกู้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายเล็กอาจจะได้รับผลกระทบ

 

ส่วนการเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ในไตรมาส 1 ปี 2568 มีการปรับตัวในทิศทางขาลงโดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลักจากที่กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ลงมาอยู่ที่ระดับ 2.00% ส่งผลให้ Bond yieldไทยรุ่นอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี  ปรับตัวลดลง 31-35 bps. จากสิ้นปี 2567 มาอยู่ที่ระดับ 1.69%, 1.74% และ 1.99% ตามลำดับณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 

 

เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน ในไตรมาส 1  ปี 2568 ของหุ้นกู้อันดับเครดิตต่างๆ ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นอายุ 5 ปี ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA  AA  A และBBB+ ปรับตัวลดลง 26-52 bps. มาอยู่ที่ระดับ 2.29% 2.63%  3.01%และ 4.31% ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2568

 

ผลการสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี 2568 ที่ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป  ราว 1-2ครั้ง รวม 0.25-0.50% ลงมาอยู่ที่1.50-1.75%  จากปัจจุบันที่ 2.00% สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า Bond yield   ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงที่เหลือของปี 2568 จะขยับตัวลดลงเฉลี่ยราว 4-7pbs. จากสิ้นไตรมาส 1 ปี 2568 จากปัจจัยเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเป็นสำคัญ

 

 

 

 

 

 

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com