กมธ. ICT วุฒิสภา หนุน ใช้เบอร์โทรแจ้งเหตุฉุกเฉินเพียงเบอร์เดียว ผ่านศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เป็นประธานประชุม กมธ. ไอซีที พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับความคืบหน้าการ จัดให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ (National Single Emergency Number) โดยเชิญ ผู้แทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาผู้แทนของสำนักงาน กสทช. ผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมชี้แจง
เพื่อต้องการผลักดันให้จัดทำ เลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการแจ้งเหตุเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการที่ผ่านมา เนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบ ภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ จึงควรพัฒนา ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (Call Center) ใช้รับแจ้งเหตุเพียงอย่างเดียว ไปสู่ศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน (Command Center) เพื่อยกระดับการให้บริการและบริหารเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา (เลขหมาย 911 ) สหภาพยุโรป (เลขหมาย 112 ) ประเทศอังกฤษ (เลขหมาย 999) เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยยังไม่มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินเลขหมายเดียว แต่มีหน่วยงานรับผิดชอบ เหตุฉุกเฉินอยู่หลายหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 199 ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างมีเลขหมายสายด่วนเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ทำให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน เมื่อต้องการแจ้งเหตุเร่งด่วน และยากต่อการจดจำเลขหมายฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงความล่าช้าในการให้บริการจากการขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เหตุฉุกเฉิน ประเทศไทยควรมีศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน (Command Center) ที่เรียกว่า “ศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (Thailand Emergency Command Center: TECC)” เพื่อแก้ปัญหาเหตุฉุกเฉินหรือเกิดเหตุภัยพิบัติ อย่างทันท่วงที ต่อยอดจาก ศูนย์เหตุด่วนเหตุร้าย 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงเสนอแบ่งแผนงานออกเป็น 2 เฟส คือ 1. ติดตั้งศูนย์ Emergency Command Center 11 แห่ง ที่เป็นศูนย์บัญชาการภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะแรกก่อน เพื่อเป็นการนำร่อง ทดสอบการทำงาน 2. ติดตั้งศูนย์ Emergency Command Center ระดับจังหวัด 66 แห่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เหลือทั้งหมด จากนั้นให้ออกแบบระบบ การให้บริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติเลขหมายเดียว เหมือนกับต่างประเทศพัฒนาแล้ว