Economies

ธปท.  เผยเศรษฐกิจ  พ.ย ทรงตัว  ชี้ ธ.ค. ส่งท้ายปีมีแรงส่งภาคบริโภค เตือนระวัง! 4 เสี่ยงในปี 67
28 ธ.ค. 2566

ธปท. ชี้แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธ.ค. ส่งท้ายปี 66  ได้แรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศ หลังเดือน พ.ย. ศก.รวมทรงตัว มีเพียงภาคบริโภค-ลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้น ส่วนภาคบริการลดลงจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และส่งออกแผ่วฉุดขาดดุลการค้า รัฐใช้จ่ายหดตัว ส่วนเงินบาทพลิกแข็งค่า  มองข้ามชอต ปี 67 เห็นสมดุลมากขึ้นจากส่งออกกลับมา-ท่องที่ยวไปต่อ พร้อมจับตา 4 เสี่ยง 'นักท่องเที่ยวจีน-ปมขัดแย้งในตปท.-นโยบายรัฐ-เอลนีโญ'

 

นางชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน โดยอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้นจากทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่กิจกรรมในภาคบริการทรงตัวเนื่องจากรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง และด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง เช่นกัน  สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ

 

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงาน ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินในประเทศ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากผลของฐานสูงในปีก่อน ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน

 

"ในเดือนพฤศจิกายน  ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.2 พันล้านดอลลาร์ มาจาก 2 ส่วน  ส่วนแรก  ขาดดุลการค้าเล็กน้อยจากการส่งออกทองคำและยานยนต์ที่ลดลง แต่มีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้น และส่วน ที่สอง ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลมากขึ้นตามรายจ่ายค่าทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งกลับกำไรของบริษัทต่างชาติ”

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเดือนพฤศจิกายน 2566 เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

 

โฆษก ธปท.  มองแนวโน้มในเดือนธันวาคมนี้ ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะยังได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จะมีการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปี 2566 อีกครั้ง

 

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่ายังคงเติบโตได้ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่เครื่องยนต์อื่นๆที่เป็นแรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจไทย คาดจะมีความสมดุลมากขึ้น อย่าง ภาคการส่งออกที่กลับเข้ามา จะช่วยเสริมภาคการท่องเที่ยวที่ค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป จากในช่วงที่ผ่านมาที่ภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศค่อนข้างจะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ  ซึ่งในระยะต่อไปยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญ 1. การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนและการส่งออกสินค้า 2. ผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์  3. นโยบายของภาครัฐ และ 4. ผลกระทบของเอลนีโญ 

 

 ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมานั้น เป็นเทรนด์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว เนื่องจากสหรัฐ วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นสิ้นสุดลงและมีความชัดเจนขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะลดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงท้ายปีก็เป็นปกติอยู่แล้วว่า ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะค่อนข้างบาง ธุรกิจไม่ได้เคลื่อนไหวมากนัก และตลาดสกุลเงินสำคัญๆปิดทำการ ทำให้ค่าเงินมีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ผันผวน

 

ทั้งนี้ รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนจากทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ และน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐขณะที่การใช้จ่ายหมวดบริการทรงตัว สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนโดยเฉพาะความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น ต่อเนื่อง

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศเพิ่มขึ้นจากหมวดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงโดยเฉพาะรถกระบะบรรทุก สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับลดลงตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการยื่นวีซ่ารวมทั้งนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ยุโรป และสหราชอาณาจักร สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากจำนวนวันพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง

 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปออสเตรเลีย และสินค้าเกษตรแปรรูปตามการส่งออกน้ำมันพืชไปอินเดีย ซึ่งเร่งไปแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ เหล็กไปสิงคโปร์ จากปัจจัยชั่วคราวเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ และฮ่องกง

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดเชื้อเพลิงตามปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และสินค้าทุนไม่รวมเครื่องบินตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์เพื่อการลงทุน อย่างไรก็ดี การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิงปรับลดลงตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์จากอาเซียน และเหล็กจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สำหรับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงเช่นกันหลังจากเร่งไปในช่วงก่อน

 

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงต่อเนื่องในหลายหมวดโดยเฉพาะ 1) หมวดอาหารและเครื่องดื่มตามการผลิตน้ำตาลเป็นสำคัญ 2) หมวดยานยนต์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินประกอบกับแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าที่เพิ่มขึ้น และ 3) หมวดเคมีภัณฑ์ตามการผลิตเม็ดพลาสติกและยางสังเคราะห์ขั้นต้น อย่างไรก็ดี หมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
ปรับเพิ่มขึ้นตามรอบการผลิตสินค้า

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางเป็นสำคัญ ตามการเบิกจ่ายที่ลดลงจากการทบทวนงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ขณะที่รายจ่ายประจำของรัฐบาลกลางทรงตัว โดยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรและค่าจัดการเรียนการสอนของหน่วยงานด้านการศึกษาที่ขยายตัวถูกชดเชยกับการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของงบกลางที่หดตัว สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวตามการเบิกจ่ายในโครงการด้านคมนาคมและสาธารณูปโภค

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดพลังงาน ตามมาตรการลดราคาน้ำมันเบนซินของภาครัฐ ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงเล็กน้อยจากผลของฐานสูงในปีก่อน แม้ระดับราคาอาหารในหมวดพื้นฐานจะยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทรงตัวจากเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจากทั้งดุลการค้า และดุลบริการ รายได้ และเงินโอน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดปรับลดการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com