Economies

TMA เผยพิษโควิด-19 ฉุดไทยร่วง 5 อันดับการแข่งขันโลก
16 มิ.ย. 2565

TMA เผยผลจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดย IMD สวิตเซอร์แลนด์ ล่าสุด ไทยร่วง 5 อันดับ หล่นมาอยู่ที่ 33 จากพิษผลกระทบโควิด-19 
          
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2565 โดยผลกระทบสะสมจากโควิด-19 ได้ส่งผลให้ปีนี้ไทยมีอันดับลดลงถึง 5 อันดับ มาอยู่ที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ โดยมีอันดับลดลงในทุกปัจจัยชี้วัด ทั้งนี้ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุด


          
จากปัจจัยหลักที่ IMD ใช้ในการจัดอันดับรวม 4 ด้าน พบว่า ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ (Economic Performance) มีอันดับลดลงถึง 13 อันดับ เนื่องมาจากประเด็นการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) มีอันดับลดลง 11 อันดับจากอันดับที่ 20 ในปี 2564 เป็นอันดับที่ 31 ในปี 2565 เนื่องจากประเด็นด้านการคลังและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ซึ่งลดลง 15 และ 8 อันดับตามลำดับ
          
ส่วนด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ก็มีอันดับลดลงเช่นกัน จากอันดับที่ 21 มาอยู่ที่อันดับ 30 โดยประเด็นด้านผลิตภาพและประสิทธิภาพยังคงเป็นปัญหาหลักและมีอันดับลดลงถึง 7 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 47 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีอันดับลดลง 1 อันดับ จากอันดับที่ 43 มาอยู่ที่อันดับ 44
          
ในระดับอาเซียน IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจ โดยสิงคโปร์ยังคงเป็นผู้นำโดยมีอันดับดีขึ้น 2 อันดับ จากอันดับที่ 5 ใน 2564 มาเป็นอันดับ 3 ขณะที่มาเลเซีย อันดับลดลงจาก 25 มาเป็นอันดับ 32 และอินโดนีเซีย อันดับที่ลดลงจาก 37 เป็นอันดับ 44 ส่วนฟิลิปปินส์ อันดับดีขึ้นจาก 52 เป็นอันดับ 48  


          
เมื่อมองภาพรวมในระดับโลก เขตเศรษฐกิจที่มีอันดับความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 65  ได้แก่ อันดับ 1 เดนมาร์ก อันดับ 2 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 สวีเดน และอันดับ 5 ฮ่องกง
          
IMD พบว่า เขตเศรษฐกิจที่อยู่อันดับต้น ๆ ของโลกในปีนี้เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก (Smaller economies) ที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Advanced digital technologies) มีนโยบายสนับสนุนที่ดี (Good policies) มีความชัดเจนในการส่งเสริมด้านความยั่งยืน (Sustainability) มีภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในการปรับตัวสูง (Agile companies) รวมถึงประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government efficiency) ที่แข็งแกร่ง ทำให้เขตเศรษฐกิจเหล่านี้มีความสามารถในการปรับตัวในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนทั้งจากผลกระทบของความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) และการระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
          
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน  กล่าวว่า ผลการจัดอันดับในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เปราะบาง มีการพึ่งพิงปัจจัยภายนอกและต่างประเทศมากเกินไป รวมถึงผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของประเทศอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ขาดความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคใหม่
          
นอกจากนั้น อันดับด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ที่ลดลง 11 อันดับ ยังสะท้อนถึงการลดลงของความเชื่อมั่นในนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงความสามารถในการปรับบทบาทของภาครัฐในการเป็นผู้สนับสนุนภาคประชาชนและภาคเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง
          
ดังนั้น ความสามารถในการปรับตัว (Agility & Resiliency) เป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคต่อจากนี้ที่ทุกอย่างมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาทั้งในระดับองค์กรให้มีโครงสร้างและกลไกการทำงานที่มีความยืดหยุ่นปรับตัวได้ง่ายและในระดับบุคลากรที่เปิดกว้างพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่และมีวิธีคิดที่ก้าวทันโลก
          
ในขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างปัจจัยพื้นฐานให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเศรษฐกิจที่เป็นเสาหลักของประเทศ และการมีกฎระเบียบนโยบายที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่และสนับสนุนให้ภาคเศรษฐกิจต่างๆ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com