EXIM BANK โชว์ฟอร์มสวย ไตรมาสแรกปีนี้ ปล่อยสินเชื่อใหม่โต 10 % ทำกำไรโต 18% เดินหน้าเสิร์ฟนวัตกรรมการเงินดอกเบี้ยผ่อนปรนทุกขนาดธุรกิจตลอด Green Export Supply Chain พร้อมสนับสนุนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกและขยายการค้าและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยกระดับธุรกิจไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน มั่นใจพอร์ต Go Green เพิ่มสัดส่วนเป็น 50% ในปี 2570
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้สนับสนุนธุรกิจไทยสู่เวทีโลก โดยธนาคารมีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 5,853 ล้านบาท เติบโต 10% ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 174,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,474 ล้านบาท หรือ 7.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประกอบด้วย 1 สินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันที่เป็น ESG 67,310 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 38.64% ของยอดทั้งหมด และเพิ่มขึ้นถึง 55.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้เป็น SMEs จำนวน 12,475 ล้านบาท 2 สินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันเพื่อการลงทุน 127,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3 สินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 50,210 ล้านบาท เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจไทยให้ขยายไปกลุ่มประเทศ CLMV และ New Frontiers ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในกลุ่ม CLMV และ New Frontiers จำนวน 43,257 ล้านบาท EXIM BANK ยังมีปริมาณธุรกิจบริการประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 54,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 EXIM BANK มีจำนวนลูกค้า 5,607 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SMEs มากถึง 81.15% ขณะเดียวกัน EXIM BANK ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน โดยมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) จำนวน 8,600 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 เท่ากับ 4.99% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) จำนวน 15,972 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 185.72% ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 EXIM BANK มีกำไรจากการดำเนินงาน 805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 132 ล้านบาท
“ผมขอยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ปีนี้จะดีกว่าก่อนโควิด เศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ 2-3% มาจากแรงอั้นการเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ของภาครัฐ ปีนี้น่าจะกระจายเม็ดงานเม็ดเงิน เห็นแน่ๆ โต 2% แต่โต 3% ได้ต้องมาจากมาตรการดิจิทัล วอลเลต คนตัวเล็กๆ จะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ส่วนภาคส่งออกที่เดือนมีนาคมลดลง 10% ก็เพราะฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน หากรวมไตรมาสแรกส่งออกเป็นบวกได้เกือบ 1% และทั้งปีน่าจะโตได้ 3% เป็นบวกได้ในรอบ 2 ปีหลังจากหดตัว“
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดโลก โดยยกระดับคุณภาพและมูลค่าสินค้าเพื่อเจาะตลาดที่มีความต้องการสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ Gadgets และสินค้ารักษ์โลก ขณะเดียวกันต้องติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมในการส่งออกไปตลาดสำคัญของโลก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งคิดเป็น 51% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2566
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ในปี 2564 สัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ที่ 7.6% ของมูลค่าส่งออกรวม ต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี (15.4%) ญี่ปุ่น (15%) จีน (10.4%) และเกาหลีใต้ (10.2%)
EXIM BANK จึงได้พัฒนา Greenovation ที่มุ่งยกระดับสินค้าส่งออกของไทยเป็นสินค้ารักษ์โลกหรือ Green Products ควบคู่กับการสร้าง Green Export Supply Chain ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยมลภาวะ บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ และการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น นับเป็นธนาคารแรก ๆ (Lead Bank) ที่มี Solution ทางการเงินช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ครบทุก Scope ทั้ง 1-2-3 ซึ่งยังคงเดินหน้าผลักดัยเอสเอ็มอี มุ่งสู่ Go Green โดยจะสร้างพอร์ตสีเขียวให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 50%ของพอร์ตรวม ภายในปี 2570 หากดูปัจจุบันจะพบว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มุ่งสู่ Go Green แล้วจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ 100 อันดับแรก
EXIM BANK สนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดขึ้น การใช้พลังงานหมุนเวียน และการช่วยให้ Suppliers ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ Green Export Supply Chain อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นที่ 3.85% ต่อปี ให้แก่ Suppliers และผู้ซื้อปลายทางของผู้ประกอบการตลอด Supply Chain ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้ โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsors) ได้รับ
“ปี 2567 EXIM BANK เดินหน้า Go the Extra Mile ชูบทบาท Green Development Bank สร้าง Greenovation ช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยทุกขนาดธุรกิจใน Green Export Supply Chain ให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษโดยอ้างอิงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ พัฒนาสินค้ารักษ์โลกของไทยสู่ตลาดโลก เร่งเครื่องภาคส่งออกของไทยขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมขานรับนโยบายรัฐบาลปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate เทียบเท่า MRR รวม 0.40% ต่อปีนับแต่ต้นปีนี้ เหลือ 6.35% ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบธนาคาร “ ดร. รักษ์กล่าว