นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2566 ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนเพราะอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และนโยบายการเงินจากธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกที่ยังคงมีความเข้มงวด ดังนั้น บลจ.ทิสโก้มองว่า หากเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีคุณภาพดีจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแสวงหาผลตอบแทนและช่วยกระจายความเสี่ยงพร้อมลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันตราสารหนี้สหรัฐฯ ที่มีคุณภาพดี ให้ผลตอบแทน (Yield) ในระดับสูง ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า ในปีนี้ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ประมาณ 5% ขึ้นไป
นอกจากนี้ ในอนาคตหากดอกเบี้ยสหรัฐฯ อ่อนตัวลงตามทิศทางการอ่อนตัวของเงินเฟ้อ ก็มีโอกาสที่การลงทุนในตราสารนี้จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นในรูปของCapital Gain อีกด้วย และเพื่อให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงและความผันผวนได้ไม่มากนัก มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง บลจ.ทิสโก้จึงเปิดเสนอขายกองทุนเปิด ทิสโก้ ตราสารหนี้สหรัฐ (TUSBOND) ความเสี่ยงระดับ 4 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ) ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน JPMorgan Funds - US Aggregate Bond ชนิดหน่วยลงทุน C (acc) – USD ซึ่งมีนโยบายลงทุนอย่างน้อย 67% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนหลักในตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ ที่ออกหรือค้ำประกันโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐประเทศสหรัฐอเมริกา หรือหน่วยงานหรือบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งหรือดำเนินธุรกิจหลักในประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเสนอขายครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 6-14 กุมภาพันธ์ 2566 มูลค่าจองซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท
“กองทุน TUSBOND มีความโดดเด่นตรงที่เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯ ทั้งพันธบัตรสหรัฐฯ และตราสารหนี้เอกชนในระดับลงทุนได้ (Investment Grade) เท่านั้น ซึ่งถือได้ว่ามีความมั่นคง มีโอกาสได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยสหรัฐฯที่อยู่ในระดับสูงมากแล้ว พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับตัวลงของดอกเบี้ยในอนาคต โดยกองทุน TUSBOND ลงทุนในกองทุน JPMorgan Funds – US Aggregate Bond ที่มีการกระจายตัวลงทุนทั้งในพันธบัตรสหรัฐ และตราสารหนี้ภาคเอกชนในสหรัฐ โดยปัจจุบันมีผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับ 5% ขึ้นไป มีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในพอร์ตการลงทุนมากกว่า 5 ปี มีสัดส่วนลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนเพียงประมาณ 30% ที่เหลือเป็นตราสารหนี้ภาครัฐ และป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน โดยปัจจุบันกองทุนมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 90% ขณะที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูง” นายสาห์รัชกล่าว