ครม. เห็นชอบขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก 2 เดือน และขยายเวลาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาที่นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ออกไปอีก 6 เดือน ยอมสูญรายได้เกือบ 20,000 ล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 เห็นชอบขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ออกไปอีก2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2565 ถึง 20 พฤศจิกายน 2565 และเห็นชอบให้ขยายเวลาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2565 ถึง 15 มีนาคม 2566เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงต่าง ๆ ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น
ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่กระทรวงการคลังมอบหมายให้กรมสรรพสามิตดำเนินมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการจากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กรมสรรพสามิตจึงได้ดำเนินมาตรการภาษีเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา อาทิ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2565
แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงต่างๆ ในตลาดโลกยังคงผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าเชื้อเพลิงต่างๆ ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ และต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนและภาคธุรกิจ จึงมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการทางภาษีไปอีกระยะหนึ่งเพื่อช่วยไม่ให้ราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้าไม่สูงจนกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เนื่องจากน้ำมันดีเซล และไฟฟ้าเป็นต้นทุนการผลิตและการขนส่งของทุกภาคอุตสาหกรรม
กรมสรรพสามิต จึงเสนอปรับลดอัตราภาษีสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันประเภทน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5บาท และจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตราศูนย์สำหรับน้ำมันดีเซล (บี0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด แม้ว่าการปรับลดอัตราภาษีในครั้งนี้จะส่งผลให้กรมสรรพสามิตต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนเกือบ 20,000 ล้านบาทก็ตาม