ผู้ว่า ธปท. แจงปมร้อน‘หั่นค่าต๋งแบงก์‘ หวั่นกระทบลดหนี้กองทุนฟื้นฟูช้าลงไปอีก ล่าสุดหนี้ FIDF จากวิกฤติต้มยำกุ้งยังเหลือ 5.8 แสน ลบ. ย้ำเป็นหนี้สาธารณะ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู่ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะให้ ธปท. พิจารณาการลดค่าต๋งหรืออัตราเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ลงครึ่งหนึ่ง หวังจะช่วยลดหนี้เสียของคนไทย ว่า ปัจจุบัน ธปท. เก็บอัตราเงินนำส่งปีละ 0.47% ของยอดเงินฝาก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก อัตรา 0.01%ของยอดเงินฝาก สำหรับส่งให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และส่วนที่ 2 อัตรา 0.46% สำหรับใช้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF) ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการปิดสถาบันการเงินช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 และปัจจุบัน หนี้ก้อนนี้อยู่ภายใต้งบดุลของกระทรวงการคลัง
ผู้ว่า ธปท. ให้คำตอบถึงกรณีจะปรับลดอัตราเงินนำส่งฯ หรือไม่ ว่า ”เร็วเกินไปที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้”
ด้านนางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ปกติ ธพ. จะต้องนำเงินส่งอยู่ที่ 0.47%ของยอดเงินฝาก ซึ่งในส่วนของ 0.46% ที่ใช้หนี้ FIDG จะเก็บได้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นปีละสองงวด หรืองวดละ 35,000 ล้านบาท โดยปัจจุบัน FIDF ยังมีหนี้ที่ต้องใช้คืนเหลืออยู่ 5.8 แสนล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยปีละ 1.7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะลดลงเหลือ 5.5 แสนล้านบาท ในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งกรณีให้ลดอัตราเงินนำส่งจาก 0.46% ลงเหลือ 0.23%ของยอดเงินฝาก จะทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 5 พันล้านบาทต่อปี และทำให้หนี้ FIDF หมดช้าลง ซึ่งหนี้ FIDF ก้อนนี้ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะอยู่ในปัจจุบัน