ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 34.99 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.15 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดการค้าระหว่างประเทศ ของจีน และอัตราเงินเฟ้อ ผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPIของสหรัฐ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.99 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 34.96-35.23 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าต่อเนื่อง หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI สหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด หนุนให้ เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ย่อตัวลงหลุดโซนแนวรับล่าสุด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นใกล้ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ท่ามกลาง สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทั้งเงินบาทและราคาทองคำ ยังได้แรงหนุนจากการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากผลการประมูลบอนด์ 30 ปี ที่ยังสะท้อนความต้องการของผู้เล่นในตลาดที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงรายงานงบดุลของเฟดล่าสุด ที่ยังคงสะท้อนว่า สถาบันการเงินในสหรัฐฯ ยังมีความต้องการสภาพคล่องผ่านโครงการ Bank Term Funding
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทั้งยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ได้กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ต่างย่อตัว จากความกังวลว่า เฟดอาจไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตามที่ตลาดคาด อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่หนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่รีบาวด์ขึ้น ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.07%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.77% ท่ามกลางแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -0.4%, LVMH -1.6% จากความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงช้า อาจทำให้เฟดไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้เร็วและลึกอย่างที่ตลาดคาดหวังไว้ ขณะเดียวกัน บรรดาหุ้นกลุ่มการเงินก็เริ่มเผชิญแรงขาย HSBC -3.1%, UBS -1.7% ก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้ รายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ตั้งแต่ช่วงวันศุกร์นี้
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.00% ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ก่อนที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะย่อตัวลงสู่ระดับ 3.97% หลังผลการประมูลบอนด์ 30 ปี ออกมาสะท้อนความต้องการของผู้เล่นในตลาดที่ยังสูง ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้นก็มีส่วนช่วยหนุนความต้องการถือบอนด์เพิ่มเติม ทั้งนี้ ความผันผวนของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่เกิดขึ้น ทำให้เราคงมุมมองเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังออกมาดีกว่าคาด และผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip โดยพยายามคำนึงถึง จุดคุ้มทุน หรือ Break-even เมื่อพิจารณาถึงผลตอบแทนรวม หรือ Total Return ที่จะได้จากการถือครองบอนด์
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยเงินดอลลาร์ได้แข็งค่าขึ้น หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทว่า เงินดอลลาร์ก็กลับมาย่อตัวลงในช่วงหลัง ตามการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 102.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 102.2-102.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังการรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) ย่อตัวลงใกล้ระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลุดโซนแนวรับระยะสั้นที่เราประเมินไว้ ทว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น รวมถึงการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ ทดสอบโซน 2,040 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญจากฝั่งจีน ทั้งอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดการค้าระหว่างประเทศ (ยอดการส่งออกและนำเข้า) เพื่อประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาสัญญาณอัตราเงินเฟ้อ ผ่านรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI และรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของเฟด หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง การจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทหลังรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ อาจชะลอลง และเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่ำกว่าระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ได้บ้าง หากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเงินบาทอาจได้แรงหนุน คล้ายกับช่วงเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาส ซึ่งหนุนให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง ทว่า เราประเมินว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในรอบนี้ อาจไม่ได้น่ากังวลมากจนทำให้เกิดภาพคล้ายกับช่วงแรกของสงครามอิสราเอล-ฮามาส
ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทก็อาจยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้บ้าง หากบรรดานักลงทุนต่างชาติยังคงเดินหน้าทยอยขายสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะหุ้น ท่ามกลางบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง
ท่ามกลางปัจจัยฝั่งแข็งค่าและอ่อนค่าดังกล่าว ทำให้เรามองว่า เงินบาทก็อาจเคลื่อนไหวในกรอบ sideway ใกล้ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทก็อาจยังไม่ได้อ่อนค่าไปไกลมากนัก และเรายังคงประเมินโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านสำคัญในช่วงนี้ ขณะที่ การแข็งค่าต่อเนื่องก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก หากไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน ทำให้โซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นแนวรับสำคัญของเงินบาทในช่วงนี้
ในช่วงนี้ เราพบว่า ความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.15 บาท/ดอลลาร์