Economies

ส่องเศรษฐกิจไทยหลังเปิดประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับจีดีพีปี64 เป็นขยายตัว 0.2%
27 ต.ค. 2564

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 ดีขึ้นกว่าเดิม หลังเปิดประเทศ และยังมีแรงส่งจากผลการเบิกจ่ายภาครัฐที่ออกมาดีกว่าที่คาด ปรับประมาณจีดีพีปี 64 จากที่คิดว่าจะติดลบ 0.5% เป็นขยายตัว 0.2% 

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ได้ทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 64 เพิ่มขึ้นมาเป็นขยายตัว 0.2% จากเดิมที่คาดว่าหดตัว 0.5% จากผลการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นกว่าที่ประเมินไว้

โดยมองว่า ผลจากการคลายล็อกดาวน์และการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นนี้ ทำให้ปรับเพิ่มคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.5 แสนคน มาเป็น 1.8 แสนคน  

ประกอบกับการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและการลงทุนภาครัฐที่ออกมาดีกว่าและเร็วกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งเห็นตัวเลขที่การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐออกมาใกล้เคียงกับช่วงปีปกติ ทำให้เป็นปัจจัยที่เข้าหนุนเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/64 จะเห็นการพลิกกลับมาเป็นบวกอย่างชัดเจนจากไตรมาส 3/64 ที่เศรษฐกิจอยู่ในระดับจุดต่ำสุดของปีแล้ว และสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเร่งตัวเร็วขึ้น และการผ่อนคายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ทำให้ความมั่นใจของประชาชนกลับมาดีขึ้น และการทำกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศต่างๆ ฟื้นกลับมา เกิดการกลับมาจับจ่ายใช้สอย ทำให้ภาพรวมในไตรมาส 4/64 เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดี แต่หากเทียบกับไตรมาส 4/63 ยังมองว่าติดลบอยู่เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ผลกระทบจากน้ำท่วมและภาระการครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างมาก ตลอดจนความเสี่ยงที่การแพร่เชื้อในประเทศจะกลับมาหลังเปิดประเทศยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การปรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 เป็นไปอย่างจำกัด

ส่วนปี 2565 นางสาวณัฐพร มองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ 3.7% จากความครอบคลุมของประชากรที่จะได้รับวัคซีนเกินกว่า 70% ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ลง และการดำเนินธุรกิจไม่หยุดชะงัก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก การใช้จ่ายครัวเรือนที่ฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำและการกลับมาบริโภคหลังจากอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์ ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงจะอยู่ที่ราคาพลังงานสูงและเงินเฟ้อ 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะ Stagflation โดยมองเงินเฟ้อในปี 2565 ที่ 1.6% บนเงื่อนไขที่ราคาน้ำมันโลกไม่ได้ยืนอยู่ในระดับสูงมากกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรลเป็นระยะเวลายาวต่อเนื่อง

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพิ่มเติมประเด็นผลกระทบจากน้ำท่วม โดยมองว่าผลกระทบส่วนใหญ่น่าจะอยู่ภายในปี 64 โดยสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. 64 คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับทั้งภาคเกษตร ซึ่งน่าจะกระทบทั้งหมดประมาณ 6-7 ล้านไร่ รวมถึงนอกภาคเกษตร ที่สำคัญคือ ภาคบริการและแรงงานรับจ้างรายวันที่ได้รับผลกระทบจากการที่ธุรกิจหยุดชะงักลงบางพื้นที่ในกว่า 30 จังหวัด โดยรวมแล้วคาดว่ากระทบเศรษฐกิจไทยประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.16% ของจีดีพี แต่น้อยกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 51, 53 และ 60 ที่ผ่านมา และได้รวมผลกระทบข้างต้นในประมาณการ GDP ปี 64 แล้ว

สำหรับผลกระทบต่อราคาน้ำมันสูงต่อธุรกิจในปี 64 มองว่าในกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลในระยะที่เหลือของปี 64 อยู่ในช่วง 25.0-29.2 บาท/ลิตร จะมีผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นราว 0.55-0.73% และต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นราว 0.33-0.44% หรือรวมกันธุรกิจจะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 1% แต่ท่ามกลางภาวะที่ราคาน้ำมันชนิดอื่นๆ ปรับขึ้นแรงกว่าน้ำมันดีเซลที่ยังมีกลไกการดูแลราคาจากภาครัฐ รวมถึงการที่ต้นทุนอื่นๆ โน้มเพิ่มขึ้นในภาวะที่ยอดขายยังไม่กลับมา ก็ย่อมจะเพิ่มโจทย์การฟื้นตัวให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่ยังต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันต่อในปีหน้าด้วยเช่นกัน

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com