Economies

ค่าเงินบาทเช้านี้ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ รอติดตามตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ
28 ก.พ. 2566

Krungthai GLOBAL​MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดอยู่ที่ 34.85-35.10 บาท/ดอลลาร์ ชี้มีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.20 บาทต่อดอลลาร์ นักลงทุนรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์  “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.10 บาทต่อดอลลาร์
 
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL​MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า แรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ในจังหวะย่อตัว (Buy on Dip) ได้ช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวขึ้น นำโดย Tesla +5.5% (ผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตางาน Investor Day ในวันพุธนี้), Nvidia +0.9%, Apple +0.8% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +0.63% ส่วน ดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปิดตลาด +0.31% หลังจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงแรงในช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมาจากความกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด
 

ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +1.07% หนุนโดยแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ในจังหวะย่อตัว เช่นเดียวกันกับในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ASML +2.9%, Adyen +1.8%,) นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลอังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU) ได้บรรลุข้อตกลงกฎเกณฑ์ทางการค้าหลัง Brexit สำหรับไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งจะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศมีความคล่องตัวมากขึ้น
 

ส่วนทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทว่าการปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.00% ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวในจังหวะปรับฐาน ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัว sideways และย่อตัวลงเล็กน้อยสู่ระดับ 3.92% ซึ่งภาพดังกล่าว สอดคล้องกับมุมมองของเรา ที่คงมองว่า จังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้น จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ (Buy on Dip)
 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังรัฐบาลอังกฤษและสหภาพยุโรปบรรลุข้อตกลงกฎเกณฑ์ทางการค้าหลัง Brexit สำหรับไอร์แลนด์เหนือ ก็มีส่วนกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงบ้าง โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลงใกล้ระดับ 104.7 จุด ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เงินดอลลาร์จะยังไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน จนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ทำให้เราคงมองว่า เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways และอาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) รีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ มาสู่ระดับ 1,824 ดอลลาร์ต่อออนซ์
 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) โดยบรรดานักวิเคราะห์ได้ประเมินว่า ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัวจะยังคงช่วยหนุนให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวขึ้นแตะระดับ 108.5 จุด ทั้งนี้ต้องจับตาว่ามุมมองของผู้บริโภคต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตเริ่มปรับตัวแย่ลงหรือไม่
 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก อาทิ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของทั้ง BOE และ ECB ว่าจะมีโอกาสขึ้นต่อเนื่องได้ถึงระดับใด
 
 
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะยังคงไม่กลับตัวมาเป็นฝั่งแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอย่างชัดเจน เนื่องจาก ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ในระยะสั้นนี้ และจะเห็นเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน เมื่อตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด ทำให้ในช่วงนี้ เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัว Sideways UP และมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.20 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ได้ ทั้งนี้ หากราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นต่อได้บ้าง การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจถูกชะลอลงด้วยโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

 
ในช่วงที่เหลือของสัปดาห์นี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานดัชนี ISM PMI ของสหรัฐฯ (ISM PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในวันพุธ และ ISM PMI ภาคการบริการในวันศุกร์) รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (ตั้งแต่วันพุธเป็นต้นไป) ทำให้ตลาดค่าเงินยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนต่อได้
 

อนึ่ง ความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.10 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com