ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.22 บาท/ดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้คาดจะอยู่ที่ 36.10-36.35 บาท/ดอลลาร์ จับตารายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนมิถุนายนของสหรัฐ และยอดการส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.14 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในช่วง 36.12-36.28 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังคาดการณ์ครั้งแรกของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ออกมา +2.8% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้พอสมควร นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซน 2,350-2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (สอดคล้องกับโซนแนวรับที่เราได้ประเมินไว้ในต้นสัปดาห์) ส่งผลใหค่าเงินบาทเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการปรับตัวผสมผสานอย่างเห็นได้ชัด โดยบรรดาหุ้นเทคฯ ยังคงเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง จากความผิดหวังผลประกอบการของหุ้นเทคฯ ใหญ่ในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มอื่นๆ อาทิ กลุ่มพลังงาน (Exxon Mobil +2.1%) ก็สามารถปรับตัวขึ้นได้ จากรายงาน GDP ไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าคาด และช่วยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นราว +2% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ยังคงลดลง -0.93% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.51%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.72% กดดันโดยความผิดหวังจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาดในช่วงนี้ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องและออกมาแย่กว่าคาด
ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ทว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ก็สามารถหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะปรับตัวขึ้นสู่โซน 4.25% ทว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ดูจะเป็นไปอย่างจำกัด ตามที่เราได้ประเมินก่อนหน้า โดยเราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ ทำให้โดยรวมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ที่ต้องทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดอย่างชัดเจน เช่น จากเดิมตลาดเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ถึง 3 ครั้ง ในปีนี้ เป็นเพียง 2 ครั้ง หรืออาจน้อยกว่านั้น
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด (รวมถึงออกมาดูดีกว่าประเทศฝั่งพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่นกัน) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 104.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.4 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซน 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้นบ้างตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนมิถุนายน โดยผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า อัตราเงินเฟ้อ PCE โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE จะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง ทำให้เฟดยังมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้
และในฝั่งไทย เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ยอดการส่งออก (Exports) ของไทยในเดือนมิถุนายน จะยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ และอัตราการเติบโตจะเป็นอย่างไร รวมถึงดุลการค้าของไทยจะยังคงเกินดุลได้หรือไม่
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมบ้าง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ธีม US Exceptionalism รวมถึงภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด (Risk-Off) อาจยังคงช่วยหนุนเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ ส่วนโฟลว์ธุรกรรมลดสถานะ Short JPY (Short JPY = มองเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่า)ของบรรดาผู้เล่นในตลาดก็อาจลดลงไปพอสมควรแล้ว ทำให้ค่าเงินเยนก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปได้มากนักในช่วงนี้ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในคืนวันศุกร์นี้ รวมถึงรอลุ้น ผลการประชุมบรรดาธนาคารกลางหลักในสัปดาห์หน้า ที่จะเริ่มต้นด้วย BOJ ในวันพุธ ต่อด้วย เฟด และ BOE ในวันพฤหัสฯ นอกจากนี้ บรรยากาศปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ก็อาจส่งผลกระทบต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทำให้ผู้เล่นต่างชาติอาจยังคงทยอยขายสินทรัพย์ไทยโดยเฉพาะหุ้นได้บ้าง
อนึ่ง แม้ว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ แต่เราก็มองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจติดอยู่ในโซน 36.30-36.35 บาทต่อดอลลาร์ (แถวเส้นค่าเฉลี่ย 20 วัน) แต่หากเงินบาทผันผวนอ่อนค่ากว่าคาด ก็อาจอ่อนค่าต่อได้ถึงโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ พร้อมกันนั้น เรายังคงประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน รวมถึง ผู้เล่นในตลาดเริ่มมั่นในมากขึ้นว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ถึงจะเห็นการแข็งค่าของเงินบาทที่ต่อเนื่อง และอาจหลุดโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้
สำหรับในคืนนี้นั้น เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่าง อัตราเงินเฟ้อ PCE ตั้งแต่ช่วงเวลาราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.35 บาท/ดอลลาร์