Economies

รัฐขึ้นค่าไฟ เร่งเงินเฟ้อแผลงฤทธิ์ ธุรกิจต้นทุนพุ่ง คนเงินฝืด เศรษฐกิจฟุบ
20 พ.ย 2564

กระแสร้อนแรงกระทบคนทั้งประเทศทิ้งทวนปลายปีนี้  เชื่อว่าทุกคนคงต้องยกให้กับข่าวร้าย “รัฐปรับขึ้นค่าไฟ” หลังเปิดประเทศไม่นาน  อีกหนึ่งปัจจัยใหญ่ฉุดเศรษฐกิจซบเซาลงไปอีก หลังจากเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564  คณะกรรมการกับพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือน ม.ค. - เม.ย. 2565 

 

ภาพที่เด้งขึ้นมา หนีไม่พ้นพ่อค้าแม่ค้าธุรกิจเตรียมปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่างๆกัน  บวกกับเทรนด์ราคาน้ำมันโลกที่ปีนี้ มีแต่ขาขึ้นมากกว่าขาลง กระทบต่อค่าขนส่งอีก

 

ภาระค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นมาเร็วกว่าคาด ย่อมกระทบเงินในกระเป๋ากันถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นประชาชน ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี บริษัทจดทะเบียนต่างๆ แบกต้นทุนเพิ่มทั้ง “ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง” ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยซบเซา เพราะที่ยังไม่ฟื้นตัวจากโควิด แต่ต้องรับชะตากรรม

 

โจทย์เศรษฐกิจไทยกำลังเสี่ยงเกิดภาวะ “เงินเฟ้อสูง” ที่เรียกว่า  Stagflation ใช่หรือไม่ใช่ หลังจากที่มีการถกเถียงแวดวงนักเศรษฐศาสตร์กันมาตลอดทั้งปีนี้ 

 

มาดูคำนิยาม “เงินเฟ้อต่างๆ” แบบเข้าใจง่ายๆ กับ ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ดังรุ่นใหม ที่ได้โพสต์บนเฟซบุ๊คเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ดังนี้กัน


จากสถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งไป 6.2% เงินเฟ้อยุโรปพุ่งไป 4.1% สูงสุดในรอบ 30 ปี คนเลยตั้งคำถามว่า เงินเฟ้อจะเป็นปัญหาให้เศรษฐกิจโลกในรอบนี้ หรือไม่

 

เงินเฟ้อ เป็นหนึ่งในปัญหาเศรษฐกิจที่คนกังวล พูดถึงเสมอ เป็นโรคร้ายทางเศรษฐกิจ ที่คอยกัดกิน “มูลค่าของเงิน”

 

จากตอนเด็กๆ เคยซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละบาท ตอนนี้ชามละ 30-40 บาท จากแบงค์สิบ ตอนนี้เหลือแค่เหรียญสิบ แม้กระทั่งเหรียญบาท ที่แต่ก่อนขนาดพอเหมาะพอสมปัจจุบัน เหรียญบาทถูกเงินเฟ้อกัดกิน ขนาดจิ๋ว เล็กจนจำไม่ได้

 

วันนี้ จึงขอเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินเฟ้อลักษณะต่างๆ ก่อนที่มาตอบว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นรอบนี้ จะเป็นปัญหาหรือไม่

 

ปกติแล้ว เงินเฟ้อในประเทศต่างๆ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 0-15% ต่อปี ประเทศพัฒนาแล้วเงินเฟ้อต่ำ ประเทศกำลังพัฒนาเงินเฟ้อสูง แต่ในหลายๆ ประเทศ ที่เงินเฟ้อแผลงฤทธิ์ จะไม่อยู่ในช่วงอัตรานี้ จึงกลายเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

 

แบบที่หนึ่ง เงินเฟ้อสูงมากมาก (Hyper Inflation) สามารถเพิ่มได้ปีละหลายๆ ล้านเปอร์เซ็นต์  ล่าสุดที่เกิดขึ้น ก็ไม่นานมานี้ ที่ซิมบับเว้ในปี 2550 เงินเฟ้อพุ่งขึ้นไปที่ 2.2 ล้านเปอร์เซ็นต์ อีกกรณี คือ เยอรมัน ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ว่ากันว่า ถ้าจะสั่งเบียร์ ก็ต้องสั่ง 2 แก้วเพราะถ้ารอไปสั่งอีกครั้ง ราคาก็จะเพิ่มขึ้นไปแล้ว

 

ท้ายสุด เงินเฟ้อลักษณะนี้จะจบลง ด้วยการที่ธนบัตรจะกลายเป็นเศษกระดาษ กลายเป็นแบงก์กงเต็ก ใหญ่สุดที่เคยเห็นก็ต้องแบงก์ของฮังการีในปี 2489 ไม่มาก ไม่น้อย แค่ 100 ล้านล้านล้านเพงโก เท่านั้นเอง

 

แบบที่สอง เงินเฟ้อสูง (Moderate Inflation) ที่เพิ่มประมาณปีละ 20-25% ขึ้นไปในกลุ่มนี้ เงินเฟ้อจะฝังรากลึก เป็นที่รู้กันว่า ราคาทุกอย่าง รวมถึงค่าจ้างเงินเดือน จะขึ้นกันแบบยกแผงสิ้นปี ขึ้นกันปีละ 20-25% ถ้วนหน้า ทำให้เงินเฟ้อ ยากจะลงมากลายเป็นปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรัง แก้ไม่ขาด ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในลาตินอเมริกามักมีปัญหานี้

 

แบบที่สาม เงินเฟ้อติดลบ (Deflation) บางครั้งคนก็จะเรียกว่า “เงินฝืด”  ราคาของหรือสินค้าที่ปกติเพิ่ม กลับลดจากเศรษฐกิจที่ไปไม่ได้ ไม่มีกำลังซื้อ ราคาที่ลด ยิ่งซ้ำเติม ทำให้ทำกำไรยิ่งยาก

 

ปัญหาเช่นนี้ไม่ได้อยู่แค่ในตำราญี่ปุ่นต้องประสบอยู่นับสิบปี (2533-2543) หลังเกิดวิกฤตฟองสบู่แตก

 

แบบสุดท้าย เงินเฟ้อ Stagflation เป็นสิ่งที่คนถามว่า กำลังเกิดขึ้นอยู่ใช่หรือไม่!  ปกติเงินเฟ้อจะมากจะน้อย ขึ้นกับว่าเศรษฐกิจคึกคักแค่ไหน ถ้าขยายตัวมาก เงินเฟ้อสูง ถ้าขยายตัวน้อย เงินเฟ้อต่ำ ยิ่งเศรษฐกิจไม่ดี ก็เงินฝืด เงินเฟ้อติดลบ

 

แต่ Stagflation แปลกกว่าเพื่อน คือ เศรษฐกิจซบเซา กลับเงินเฟ้อพุ่งสูง เรื่องนี้มักเกิดจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น  ซึ่ง Stagflation ครั้งสำคัญ เกิดช่วงวิกฤตน้ำมันขาดแคลน (2516-2525) จะเห็นว่าถ้าบริหารไม่ดี เงินเฟ้อก็จะแผลงฤทธิ์

 

สำหรับรอบนี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (การขาดแคลนซัพพลาย เช่น ชิป ตู้คอนเทนเนอร์ ฯลฯ) เป็นเงินเฟ้อเกิดจากเศรษฐกิจกำลังฟื้น คนแย่งกันสั่งของ จนวัตถุดิบราคาเพิ่ม คนที่ปิดกิจการ คนที่เอา Stock สินค้าไปหาสภาพคล่อง คนที่เคยสั่งของเข้าร้านแต่น้อย อย่างระวัง เท่าที่จำเป็น แต่พอโควิดเริ่มดีขึ้น คนกล้าออกจากบ้าน เริ่มจับจ่าย ก็เปิดร้านอีกรอบ สั่งของมาจำนวนมาก หลังหยุดมาเกือบครึ่งปี สั่งสินค้าเพิ่ม เพราะรู้ว่า นี่คือ จังหวะที่ดีของการทำธุรกิจ ไม่น่าแปลกใจ ของจึงขาดตลาด ราคาเพิ่ม เพราะแย่งกันซื้อ  แม้ราคาจะสูงกว่าเดิม ก็ยอมจ่าย เพราะคิดว่าทำกำไรได้

 

แบบนี้ ไม่ใช่ Stagflation แน่นอน แต่เป็นปกติของการปรับตัว และเป็นเงินเฟ้อช่วงเศรษฐกิจฟื้น หลังวิกฤตใหญ่ๆ เมื่อเวลาผ่านไป Stock ของกันพอแล้ว ผ่านช่วงปรับตัว ซึ่งน่าจะประมาณ 1-2 ปี  เศรษฐกิจก็จะขยายตัวตามปกติ เงินเฟ้อ ราคาของต่างๆ ก็จะกลับเป็นปกติเช่นกัน

 

จากคำนิยามของ “Stagflation” มาจับอาการเศรษฐกิจไทยเวลานี้ ที่อยู่ในภาวะซบเซา เงินเฟ้อกำลังพุ่งขึ้น เพราะจู่ๆรัฐมาประกาศจะขึ้นค่าไฟช่วงเดือนมี.ค. แต่เวลานี้ทุกคนตีความกันไปพร้อมปรับราคาสินค้าขึ้นไปรอกันก่อนแล้ว  ผลสะท้อนออกมาแรงและเร็วกว่าคาดที่กลายเป็นเงินเฟ้อแผลงฤทธิ์ใส่คนจนกระเป๋าแฟบ ธุรกิจต้นทุนขึ้น ผลักไปให้ผู้ซื้อต้องซื้อสินค้าแพง  แนวโน้มเศรษฐกิจอาจฟุบลงไป จนกระทบต่อการฟื้นตัวในปี 2565 และฟื้นกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด -19 ได้ในปี 2566  อาจต้องเลื่อนออกไป

 

เพราะโจทย์เงินเฟ้อขึ้นแรงมาก  แบงก์ชาติหรือ ธปท. จะหาทางออกแก้เรื่อง “ดอกเบี้ยนโยบาย”  ยากขึ้น การจะปรับขึ้นดอกเบี้ยก็ไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจฟุบอยู่ทั้งธุรกิจและประชาชนตาดำๆ เดือดร้อนกันอยู่ หากจะปล่อยให้ดอกเบี้ยต่ำ ก็จะคุมเงินเฟ้อที่สูงไม่อยู่  ค่าของเงินลดลง ราคาของแพงขึ้น  วนเป็นปัญหาไข่กับไก่ใครเกิดก่อนกัน  ที่แน่ๆ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีต้นทุนเพิ่มขึ้นตาม กระทบชิ่งต่อกำไรขั้นต้นแน่นอน 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com