Economies

เงินบาท“แข็งค่าขึ้นแรง” เปิดเช้านี้ที่ 35.14 บาท/ดอลลาร์
14 ธ.ค. 2566

เงินบาท“แข็งค่าขึ้นแรง” เปิดเช้านี้ที่ 35.14 บาท/ดอลลาร์  Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.25 บาท/ดอลลาร์ จับตาไฮไลท์สำคัญ ผลประชุมธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางยุโรป และรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.14 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นแรง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.80 บาทต่อดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 35.11-35.78 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงเล็กน้อยก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด และพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุมเฟด ที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ณ ระดับ 5.25-5.50% ตามคาด ขณะที่มุมมองของเฟดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยในอนาคตผ่าน Dot Plot และถ้อยแถลงของประธานเฟด ก็ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลต่อแนวโน้มเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ไปพอสมควร ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงหนัก ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นแรง ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หลังเฟดคงอัตราดอกเบี้ยตามคาดและคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (Dot Plot) ก็ทำให้บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างคลายกังวลต่อแนวโน้มเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน (Higher for Longer) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.37% 

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.06% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการประชุมเฟด รวมถึงผลการประชุมของ BOE และ ECB ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างยังไม่รีบปรับเปลี่ยนสถานะถือครองสินทรัพย์เสี่ยง 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าคาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดล่าสุด (Dot Plot) จะสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีหน้า ทว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้เร็วและลึกกว่าที่เฟดประเมินไว้ใน Dot Plot ล่าสุด โดยจาก CME FedWatch Tool บรรดาผู้เล่นในตลาดกลับมามองว่า เฟดอาจเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนมีนาคมหน้า และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้ราว -1.50% โดยมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาด ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงหนัก เข้าใกล้ระดับ 4.00% ทั้งนี้ เรามองว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ได้สะท้อนภาพการลดดอกเบี้ยอย่างที่ตลาดกำลังประเมิน ทำให้มีความเสี่ยงที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจผันผวนสูงขึ้นได้ ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด จนทำให้ผู้เล่นในตลาดต้องปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอีกครั้ง ดังนั้น เราจึงมองว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว มากกว่าจะไล่ราคาซื้อ จนกว่าจะเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชัดเจน เช่น ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น ต่ำกว่า 1 แสนราย หรือ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 2 ล้านราย

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเร็วและแรง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผลการประชุมเฟดล่าสุด ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นและลึกกว่าที่เฟดระบุไว้ใน Dot Plot ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 102.9 จุด (กรอบ 102.7-104 จุด)  ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะยังอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงในปีหน้าได้พอสมควร จนทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ต่างปรับตัวลดลงชัดเจน ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) รีบาวด์ขึ้นแรงสู่ระดับ 2,045 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
 
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยผู้เล่นในตลาดจะจับตาว่า ทั้งสองธนาคารกลางจะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย เหมือนกับเฟดหรือไม่ พร้อมกันนั้น ทั้ง BOE และ ECB จะมีการเริ่มส่งสัญญาณพร้อมลดดอกเบี้ยลงในปีหน้า อย่างที่ตลาดกำลังคาดการณ์ หรือไม่

นอกจากผลการประชุมธนาคารกลางหลักดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) และ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) เพื่อประเมินว่า มุมมองของตลาดล่าสุด ที่มองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงได้เร็วและลึกกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทแข็งค่าขึ้นในการทยอยซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่เปิดสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) ก็อาจเริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะดังกล่าวได้บ้าง ทำให้เราประเมินว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจจำกัดอยู่ในโซนแนวรับหลัก 35.00 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้บอนด์ยีลด์ไทยลดลงเช่นกัน ก็อาจทำให้ นักลงทุนต่างชาติบางส่วนทยอยขายทำกำไรบอนด์ไทยได้ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็อาจแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่เราประเมินได้ หากนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยได้ หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากเงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจแข็งค่าต่อสู่โซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ได้ 

ทั้งนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้ผลการประชุม BOE และ ECB ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางของสกุลเงินยุโรป ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ได้พอสมควร นอกจากนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะหากออกมาดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดโอกาสเฟด “ลด” ดอกเบี้ย เร็วและลึก กว่าที่ตลาดกำลังคาดการณ์อยู่ได้บ้าง ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้น ส่วนเงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงได้เช่นกัน 

ในช่วงนี้ ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.95-35.25 บาท/ดอลลาร์

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com