ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.83 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินกรอบเงินบาท 36.65-37.00 บาท/ดอลลาร์ ช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.83 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.86 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ sideways down (แกว่งตัวในช่วง 36.77-36.87 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยจังหวะการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ และการรีบาวด์ขึ้นเกือบ +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ได้แรงหนุนจากการย่อตัวลงของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ เงินบาทยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นได้ต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และการดีเบตรอบแรกของผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ อีกทั้ง ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทำให้อาจมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันกลับเข้ามากดดันเงินบาทได้บ้าง
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และการดีเบตรอบแรกระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ อย่างไรก็ดี การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ปรับตัวขึ้นบ้าง อาทิ Amazon +2.2%, Meta +1.3% ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq +0.3% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.09%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.43% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นฝรั่งเศส อาทิ LVMH -1.6% ตามการลดความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาดก่อนเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งรอบแรกของฝรั่งเศส ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML +1.4% ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานก็ปรับตัวขึ้นเช่นกันตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 4.29% หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดก็ออกมาผสมผสาน โดยแม้ว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจะอยู่ที่ +1.4% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าคาดเล็กน้อย ทว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ยังคงปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.839 ล้านราย แย่กว่าคาดเล็กน้อย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็คาดหวังว่า รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ในวันศุกร์ จะสะท้อนภาพการชะลอลงเพิ่มเติมของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ สอดคล้องกับคำแนะนำของเราที่ ย้ำว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง”
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ sideways โดยมีจังหวะย่อตัวลงบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาผสมผสาน ทว่าเงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่กลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนเข้าใกล้ระดับ 160.8 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 105.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.7-106 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่กลับมาร้อนแรงขึ้น ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2,330-2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังที่จะเห็นการชะลอลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในภาคการบริการที่ไม่รวมราคาที่พักอาศัย (Core Services ex. Housing) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด รวมถึง รอจับตาการดีเบตรอบแรกระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (Joe Biden vs Donald Trump)
ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะสั้นและระยะยาว (Inflation Expectations) ที่สำรวจโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ ECB อาจใช้พิจารณานโยบายการเงิน
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทได้ชะลอลงบ้าง จากอานิสงส์การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ ส่วนเงินดอลลาร์อาจแกว่งตัว sideways ไปก่อน เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันศุกร์นี้ (เวลาราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของตลาดการเงิน ในช่วงตลาดติดตาม การดีเบตรอบแรกระหว่างผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (เวลาประมาณ 8.00 น. – 9.30 น.) แต่เราประเมินว่า ตลาดการเงินอาจให้น้ำหนักกับรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE มากที่สุด โดยหากอัตราเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่องตามคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด อาจช่วยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งเชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้ทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจย่อตัวลงบ้าง ส่งผลให้ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ ส่วนเงินบาทก็อาจแข็งค่าทดสอบแนวรับระยะสั้นแถว 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์ได้
เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.75-36.90 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ
และประเมินกรอบเงินบาท 36.65-37.00 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ