Economies

ผู้ว่า ธปท. มั่นใจ GDP ปีนี้โตมีศักยภาพ 3% ชี้ครึ่งปีหลังโตกระโดด ยัน 2.5% เหมาะสมแล้ว
4 ก.ค. 2567

ผู้ว่า ธปท. มั่นใจ GDP ปีนี้โตมีศักยภาพ 3% ชี้ครึ่งปีหลังโตกระโดด แจงยิบไม่ลดดอกเบี้ย ยัน 2.5% เหมาะสมแล้ว

 

ดร. เศรษฐพุฒิ  สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  เปิดเผยว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ดีเหมือนกับประเทศอื่นๆ โดยไทยฟื้นตัวช้ากว่า แต่ก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและค่อยๆกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพที่อยู่ระด้บ 3% บวก/ลบ ซึ่งเป็นคาดการณ์จากแบบจำลองของ ธปท. ออกมาว่า ในช่วง  2566-2571  ซึ่งเป็นระดับศักยภาพที่ลดต่ำลงเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตอย่างมีศักยภาพจะอยู่ที่ 4-5%  สาเหตุหลักๆมาจาก การเติบโตแรงงานไทยหดตัวลงเกือบ 0% และประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้แข่งขันไม่ได้ เพราะฉะนั้น จากนี้ไป การเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ไม่ใช่ 4-5% เหมือนสมัยก่อนแล้ว  และภาพรวมของเศรษฐกิจจะเป็นการฟื้นตัวที่ซ่อนความยากลำบากของประชาชนอีกไม่น้อยที่เดือดร้อนจากรายได้ที่ยังไม่ได้กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิดโดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างนอกภาคเกษตรและผู้ประกอบอาชีพอิสระ( ฟรีแลนซ์) ซึ่งช่วงโควิดจะมีปัญหาการหายไปของหลุมรายได้ที่ใหญ่มาก ขณะที่มีภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่รายได้เพิ่มขึ้นน้อยกว่า  จึงเป็นกลุ่มที่ยากลำบากอยู่  ทำให้เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่ได้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังคงคาดการณ์ GDP ปี 2567 นี้ระดับ 3% ซึ่งเป็นระดับศักยภาพ แม้ว่า ไตรมาสแรก เติบโตต่ำ 1.5% แต่ถือว่าสูงกว่าที่ ธปท. คาดไว้ และช่วงที่เหลือปีนี้  ธปท.  คาด GDP ไตรมาส 2 นี้ โตใกล้ๆ 2% และไตรมาส 3 ขยายตัวได้ใกล้ 3% เนื่องจากฐานที่ต่ำ เช่นเดียวกัน ไตรมาส 4 GDP โตใกล้ 4% ซึ่ง 2 ไตรมาสนี่โตกระโดด เนื่องจากฐานที่ต่ำของปีที่แล้ว 

 

ส่วนที่มีคำถามทำไม ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งๆที่เศรษฐกิจโตช้า และเงินเฟ้อก็ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% นั้น ผู้ว่า ธปท. บอกว่า กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ใช้เป็น  กรอบยืดหยุ่น ซึ่งไม่ได้ดูเรื่องเงินเฟ้ออย่างเดียว แต่ดูการเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเงินที่จะดูผ่านหนี้ครัวเรือน เพราะฉะนั้นการจะใช้เครื่องมือดอกเบี้ย จะต้องชั่งน้ำหนักตอบโจทย์หลายๆด้านที่จะให้เกิดความสมดุล เช่นฝั่งผู้กู้-ผู้ฝากเงิน ผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า และเป็นการมองแนวโน้มสถานการณ์ไปข้างหน้าด้วย   ซึ่งระดับดอกเบี้ยปัจจุบัน 2.50%  ก็เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ  โดยคนที่มีหนี้ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยสูงก็มีเครื่องมือปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือดูแลอยู่แล้ว ประกอบกับ ธปท. ได้ประเมินแล้วว่า หากลดดอกเบี้ย 0.25% ไม่ได้เป็นประโยขน์กับลูกหนี้ทุกกลุ่ม เนื่องจากสินเชื่อบางประเภทเป็นดอกเบี้ยคงที่ เช่น ลีสซิ่งหรือสินเชื่อรถ ฯลฯ 

 

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยถือเป็นเครื่องมือหยาบ หากปรับข้างใดข้างหนึ่งจะมีผลกระทบหลายด้าน และก็ไม่ใช่ตอบโจทย์ในด้านใดด้านหนึ่งด้วย การตัดสินใจปรับดอกเบี้ยยังต้องประเมินไปถึงแนวโน้มในระยะข้างหน้าด้วย

 

“กนง. Set (นโยบายดอกเบี้ย) ไว้เหมาะสมกับ outlook dependent ตอนนี้  แต่ถ้า  outlook มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย เช่นเงินเฟ้อ  การขยายตัวของเศรษบกิจ เราก็พร้อมจะเปลี่ยน(ดอกเบี้ย)  การดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่อยากให้มองว่ามีดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเดียวในการดำเนินนโยบายการเงิน  ยังมีอีกหลายเครื่องมือ เช่นมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน  ในการใช้ดอกเบี้ยจะต้องตอบหลายโจทย์ และเสถียรภาพต่างประเทศด้วย ซึ่งปีที่แล้ว เงินก็ไหลออกราว 9.9 พันล้านดอลลาร์ และปีนี้ช่วง 6 เดือน (YtD) กว่า 5 พันล้านดอลลาร์“

 

ส่วนประเด็น กนง. จะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับลดดอกเบี้ยที่คาดจะเกิดขึ้นปลายปีนี้  ผู้ว่า ธปท. อธิบายว่า “กนง. ไม่ได้ดูส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นหลัก ไม่ใช่เขาขึ้นแล้วเราต้องขึ้น หรือเขาลงแล้วเราก็ลง แต่ไทยเป็นประเทศเล็กและเศรษฐกิจเปิด เพราะมีการส่งออกและท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าเขาปรับก็จะมีผลกับไทย หนีไม่พ้น เราต้องเหลียวตามองดูต่างประเทศ (Fed)  ว่าเขาทำอะไร ซึ่งจะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และกระทบต่อค่าเงินบาท ก็เป็นปัจจับที่เราต้องจับตา”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com