กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองไทยโตช้ากว่าประเทศที่มีจุดเริ่มใกล้เคียงกันหรือต่ำกว่ามาก ติดหล่มกับดักรายได้ปานกลาง แนะยกระดับศักยภาพการแข่งขันและทักษะแรงงานผ่านการศึกษา ตลอดจนการวิจัยและพัฒนา เพื่อกระตุ้นนวัตกรรมจากภายในประเทศ
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวระหว่างการเปิดงานสัมมนา ครบรอบ 50 ปีของกลุ่มธุรกิจฯ “THIS IS THE END OF THE LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี” ว่า “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้จัดทำหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy เพื่อสำรวจพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะเกินกว่า 50 ปีที่ผ่านมา และพบว่า หากใช้เกณฑ์เป้าหมายของการพัฒนาประเทศที่ควรจะต้อง ‘มั่งคั่ง ทั่วถึง และยั่งยืน’ ประเทศไทย ยังต้องเร่งฝีเท้าขึ้นอีกมาก เพราะในมิติความ ‘มั่งคั่ง’ ประเทศไทยมีอัตราเติบโตช้ากว่าประเทศที่มีจุดเริ่มใกล้เคียงกันหรือต่ำกว่ามาก ไม่ว่าจีนหรือสิงคโปร์
ในด้านความ ‘ทั่วถึง’ รายได้ของคนในระดับบนร้อยละ 20 และคนระดับล่างร้อยละ 20 ของประเทศ ต่างกันถึง 8 เท่า สะท้อนโอกาสเข้าถึงการศึกษาและทรัพยากรที่ต่างกันอย่างมาก ด้านความ ‘ยั่งยืน’ แม้ประเทศไทยจะมีพื้นฐานดี เศรษฐกิจมีการกระจายตัว แต่การเปลี่ยนผ่านของโลกในมิติของเทคโนโลยี การเมือง และสิ่งแวดล้อม จะทำให้ความยั่งยืนของเศรษฐกิจถูกกระทบ และการตระหนักถึงความเร่งด่วนของปัญหาการพัฒนาที่ยังไม่บรรลุเป้าคือจุดเริ่มของทางออก”
ด้าน นายธีระพงษ์ วชิรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวใน Keynote Presentation หัวข้อ Thailand’s Final Call ว่า “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาเราได้เดินตามสูตรสำเร็จของการพัฒนามาโดยลำดับ ตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาอุตสาหกรรม มาจนการเปิดเสรีการเงินและการค้าและบริการ
แต่ในขณะเดียวกัน จะพบว่าปัจจัยจากโลกภายนอกเป็นตัวกำหนดความสำเร็จและล้มเหลวของนโยบายเหล่านั้นไม่น้อย เช่น การสนับสนุนของสหรัฐฯ แก่ไทยในช่วงสงครามเย็นกระตุ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิกฤตการณ์น้ำมันนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงาน การหลั่งไหลของเงินทุนไปสู่ตลาดเกิดใหม่เป็นพื้นฐานของวิกฤตต้มยำกุ้ง และการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางในจีนทำให้การท่องเที่ยวไทยเติบโต ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ประเทศไทยเดินทางมาสู่จุดพลิกผัน เพราะเติบโตช้าลง และสูญเสียตลาดให้กับเพื่อนบ้าน ในขณะที่เงื่อนไขจากภายนอกอาจไม่เป็นแรงส่งอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการแตกขั้วของการเมืองโลกที่อาจทำให้โลกาภิวัตน์ไหลย้อนกลับ การขาดแคลนพลังงานที่จะทำให้ต้นทุนทุกระดับแพงขึ้น หรือการพลิกผันของเทคโนโลยีที่จะกระทบฐานอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
ด้วยเหตุนี้ การพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) และนักท่องเที่ยวอย่างเดิมไม่ใช่คำตอบที่เพียงพอ ประเทศไทยต้องวางรากฐานของนวัตกรรมที่กำเนิดจากภายใน ซึ่งตั้งอยู่บนการศึกษาที่ดีและการขจัดปัญหาคอร์รัปชันที่บั่นทอนการแข่งขันและพัฒนา”
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีเวทีเสวนาอีก 2 เวที ประกอบด้วยเวที Bracing for the Future I: Technology and Climate Change ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) นางสาวปฐมา จันทรักษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ แห่ง ‘ป่าสาละ’ และเวที Bracing for the Future II: Geopolitics and Our Politics ซึ่งประกอบด้วย ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ โดยมีดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัยและ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
การจัดสัมมนา “THIS IS THE END OF THE LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี” เป็นงานเสวนาด้านเศรษฐกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ร่วมกับสำนักข่าวเดอะ สแตนดาร์ด ซึ่งมุ่งนำเสนอองค์ความรู้ที่จะเปิดโอกาสให้แก่เศรษฐกิจไทย โดยในปีนี้ได้นำเอาประเด็นสำคัญบางส่วนจากหนังสือ 50 Years: The Making of the Modern Thai Economy ที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบ 50 ปีของการก่อตั้งองค์กรมาอภิปรายและขยายผลการรับรู้สู่สาธารณะ นอกเหนือจากการเผยแพร่ไฟล์พีดีเอฟของหนังสือ https://link.kkpfg.com/vqLON และพอดแคสต์ซีรีย์พิเศษ