Public Relation

การบินไทย เซ็น MOU กับ Kansas Modification Center ในโครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโบอิ้ง
25 เม.ย 2568

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และ บริษัท Kansas Modification Center, LLC. (KMC) ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโดยสาร แบบโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า (Passenger-to-Freighter, P2F) โดยมี นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ และ Mr. James Allen Gibbs ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท KMC ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นายเชิดพันธ์ โชติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่สายช่าง บริษัทฯ และ Mr. Bong Chul Park ประธาน บริษัท KMC ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานใหญ่ การบินไทย ถนนวิภาวดีรังสิต

 

บริษัท KMC ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมดัดแปลงอากาศยาน สำหรับโบอิ้ง 777-300ER ในฐานะผู้บุกเบิกเทคนิคการดัดแปลงรูปแบบประตูสินค้าอยู่บริเวณลำตัวส่วนหน้า (Forward Cargo Modification) ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เน้นรูปแบบประตูสินค้าอยู่บริเวณลำตัวส่วนท้าย ส่งผลให้เครื่องบินมีประสิทธิภาพเชิงน้ำหนัก (Weight Efficiency) ที่สูงกว่า เหมาะสมสำหรับการขนส่งสินค้าระยะไกล

 

ความร่วมมือครั้งนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของประเทศใน 3 มิติหลัก ได้แก่

 

1. เสริมสมรรถนะทางเทคโนโลยี : ถ่ายทอดองค์ความรู้ (Technology-Transfer) การดัดแปลงเครื่องบิน P2F จากผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ยาก 

 

2. พัฒนาห่วงโซ่อุปทานการบิน : สร้างระบบนิเวศการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพื่อสนับสนุนการดัดแปลงเครื่องบิน P2F ภายใต้ลิขสิทธิ์จาก บริษัท KMC และบริษัทพันธมิตรของ KMC 

 

3. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ : สร้างตำแหน่งงานคุณภาพในอุตสาหกรรมการบินกว่า 500 ตำแหน่ง

 

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ เปิดเผยว่า “การร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการบินไทย และของประเทศไทยในการขยายศักยภาพด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน เสริมสร้างทักษะและองค์ความรู้ด้านการดัดแปลงอากาศยานซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ยาก รวมถึงยังเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นก้าวที่สำคัญของประเทศไทย ในการยกระดับอุตสาหกรรมการบินให้มีความครบวงจร สร้างรายได้ให้กับหลายภาคส่วนของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุง อากาศยาน ตั้งแต่อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ จนถึงอุตสาหกรรมดัดแปลง อากาศยานซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ อีกทั้งยังช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสนับสนุนยุทธศาสตร์ของชาติในการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค รวมถึงยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศไทย และยังมีส่วนช่วยสร้างงานกว่า 500 ตำแหน่งให้กับอุตสาหกรรมการบินในประเทศอีกด้วย"

 

Mr. Bong Chul Park ประธาน บริษัท KMC เปิดเผยว่า “ความร่วมมือกับการบินไทยในครั้งนี้ นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของ KMC เนื่องจากเราได้นำความสามารถในการปรับปรุงเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับการบินไทยในการจัดทำโครงการปรับปรุงเครื่องบินขนส่งสินค้าชั้นนำ ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมประตูห้องบรรทุกสินค้าด้านหน้าของเราเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนวิสัยทัศน์การเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคที่กว้างไกลขึ้นอีกด้วย โดยการผสมผสานความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของเราเข้ากับทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทยและโครงสร้างพื้นฐานด้าน MRO ที่กำลังเติบโต เรามั่นใจว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะสร้างมาตรฐานใหม่ด้านการปรับปรุงเครื่องบิน นอกจากนี้ ความคิดริเริ่มนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการถ่ายทอดความรู้และการพัฒนากำลังคน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นและตอกย้ำสถานะของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินแห่งใหม่”

 

โครงการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อดำเนินธุรกิจดัดแปลงอากาศยานโดยสาร แบบโบอิ้ง 777-300ER เป็นอากาศยานขนส่งสินค้า (Passenger-to-Freighter, P2F) มีแผนดำเนินการดัดแปลง ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง และพื้นที่บริเวณเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่มีขีดความสามารถในการให้บริการดัดแปลงอากาศยาน สำหรับโบอิ้ง 777-300ER แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย รวมถึงต่อยอดยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ในภูมิภาค

 

 

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com