ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 2-3 พ.ย. 2564 ที่จะถึงนี้ จะเป็นรอบการประชุมที่สำคัญ เนื่องจากเฟดน่าจะมีการประกาศการลดวงเงิน QE อย่างเป็นทางการ ขณะที่เฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองดังต่อไปนี้
▪ เฟดน่าจะยังคงดำเนินนโยบายการเงินตามแผนที่ได้ส่งสัญญาณไว้ก่อนหน้าว่า เฟดจะเริ่มลดวงเงิน QE ภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะสิ้นสุดการลดวงเงิน QE ภายในกลางปี 2565 ซึ่งแปลว่าเฟดอาจทยอยลดวงเงิน QE เดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแบ่งเป็นการลดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเดือนละ 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวงเงินปัจจุบันที่ 8.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และการลดการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (mortgage-backed securities) เดือนละ 0.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวงเงินปัจจุบันที่ 4.0 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ซึ่งจะส่งผล ให้วงเงิน QE ทั้งหมดที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนในปัจจุบันหมดลงในช่วงกลางปีหน้าตามที่ เฟดได้ส่งสัญญาณไว้
▪ ความกังวลหลักของเฟดอยู่ที่ประเด็นด้านเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นอย่างมาก และอาจจะลากยาวกว่าที่เคยประเมิน อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนก.ย. ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้นถึง 5.4% YoY สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างมากที่ 8.6% YoY ตามปัจจัยด้านราคาพลังงานและปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานซึ่งมีแนวโน้มที่จะไม่คลี่คลายลงในระยะอันใกล้ ทั้งนี้ แม้ว่าการลดวงเงิน QE อาจจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเงินเฟ้ออย่างตรงจุด เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยทางฝั่งอุปทานที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตนั้นสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายผ่านการลดวงเงิน QE จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) และแรงกดดันเงินเฟ้อจากฝั่งอุปสงค์ ซึ่งจะช่วยหยุดยั้งวงจรเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า ทิศ ทางการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโมเมนตัมที่จะชะลอตัวลง ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ อาจจะลากยาวกว่าที่เคยประเมิน ส่งผลให้เฟดคงจะต้องชั่งน้ำหนัก ความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจและด้านเงินเฟ้อในการพิจารณาจังหวะที่เหมาะสมในการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า โดยหากเฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ควร นอกจากจะสร้างความผันผวนมากขึ้นในตลาดเงินตลาดทุนแล้ว ยังอาจยิ่งบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่ได้หมดไป อีกทั้งยังไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาขีดจำกัดในฝั่งอุปทานซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เนื่องจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและส่งผลให้ผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
▪ สำหรับผลกระทบในฝั่งตลาดเงินตลาดทุน เนื่องจากตลาดได้รับรู้แผนการลดวงเงิน QE ไปแล้วก่อน หน้านั้น ดังน้ัน การประกาศลดวงเงิน QE ในการประชุมที่จะถึงนี้ น่าจะส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนให้เกิดความผันผวนอย่างจำกัด อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามผลการประชุมว่าเฟดจะส่งสัญญาณอะไรเพิ่มเติม ซึ่งหากเฟดส่งสัญญาณมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงเชิงลบสูงขึ้น อาจส่งผลให้ตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยชะลอออกไปจากที่เคยคาด ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เผชิญแรงกดดัน และมีแนวโน้มอ่อนค่าได้ ขณะที่หากเฟดส่งสัญญาณแสดงความกังวลต่อประเด็นเงินเฟ้อมากกว่าความ เสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลให้ตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ ยเร็วกว่าที่เคยคาด ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ซึ่งแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าคงผันผวนไป ตามทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และปัจจัยในประเทศ ซึ่งคงต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากมีการเปิดประเทศ ท่ามกลางความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่ยังอยู่ในระดับสูง
▪แนวโน้มค่าเงินบาทและตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ (1-5 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองค่าเงินบาทมีกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ และบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จํากัด มองว่ํา ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,590 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,635 และ 1,650 จุด ตามลำดับ
โดยปัจจัยสำคัญที่เกิดขึ้นช่วงระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (1 พ.ย.) การประชุมเฟด (2-3พ.ย.) การประชุม OPEC+ (4พ.ย.) สถานการณ์โควิด ทิศทางเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบจ. ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานเดือน ต.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการเดือน ต.ค.ของญี่ปุ่น ยูโรโซนและจีน ตลอดจนยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ย. ของยูโรโซน