Economies

`แบงก์กรุงไทย` ชี้ธุรกิจเแบงก์ปี 66 มีโจทย์ท้าทาย ต้นทุนนำส่ง FIDF กระทบกลุ่มลูกค้าเปราะบาง ชูมาตรการดูแลต่อเนื่อง พร้อมรับมือ NPL สูง คาดสินเชื่อปี 66 โต 3-4%
20 ธ.ค. 2565

แบงก์กรุงไทย ชี้ปีหน้าธุรกิจแบงก์มีความท้าทายเพิ่มขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจฟื้นตัว ท่องเที่ยวคึกคัก แต่ส่งออกมีความท้าทายมากขึ้น ดอกเบี้ยขาขึ้นแต่มีต้นทุนนำส่งอ FIDF กระทบลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เผยมีมาตรการดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง  ยอมรับปัญหาเอ็นพีแอลยังสูง กดดันภาระตั้งสำรองต่อเนื่อง คาดสินเชื่อโต 3-4%

 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย  เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจธนาคารในปีหน้า ยังมีความท้าทายเพิ่มขึ้นท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนหลักจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักจากจีนกลับเข้ามาไทยมากขึ้น  ซึ่งหากนักท่องเที่ยวกลับมาเร็วก็จะเป็นผลบวกต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ส่งออกมีความท้าทายมากขึ้น ส่วนทิศทางดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์จะต้องกลับมานำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อัตราเดิมที่  0.46%ในปี 2566 ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อลูกหนี้กลุ่มเปราะบางมากขึ้น ดังนั้น ธนาคารจะเน้นการเข้าไปดูแลกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆที่ดำเนินการอยู่แล้ว และอาจจะมีเพิ่มเติมเพื่อดึงกลุ่มเปราะบางทั้งเอสเอ็มอี และรายย่อยต่างๆให้เข้ามาในระบบ โดยเฉพาะการดำเนินการผ่านโครงการมหกรรมแก้หนี้เชิงรุกที่จะกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค

 

สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารกรุงไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีและกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งในช่วงไตรมาส3และไตรมาส4 ยอดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นหลายพันล้านบาท มากกว่าครึ่งปีแรก ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือรหัส 21 ภายใต้นิยามของเครดิตบูโร ที่เคยเป็นลูกหนี้ปกติ แต่กลับมาเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด ธนาคารได้เข้าไปดูแลต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ 

 

“กลุ่มรหัส 21 การเข้าไปช่วยเหลือต่างๆก็ต้องไปดูว่า  กลุ่มนี้สามารถประกอบอาชีพใหม่ได้หรือไม่ หรือไม่ไหวแล้ว หรือยังต้องฟื้นฟูธุรกิจเพื่อให้กลับมาต่อได้  แต่การช่วยเหลือที่ผ่านมาของกรุงไทย ก็มีกลุ่มนี้ที่ธนาคารดูแลอยู่แล้วผ่านการปรับโครงสร้างหนี้”นายผยงกล่าว 

 

สำหรับแนวโน้มไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)  ในปี2566 นายผยง มองว่า  เนื่องจากที่ผ่านมา หน้าผาเอ็นพีแอลค่อนข้างสูง ดังนั้นในปีหน้าก็ยังสูงอยู่  เพราะโครงสร้างหนี้เสียของระบบไม่ได้ปรับลดลงเร็ว ดังนั้นหวังว่า มาตรการต่างๆที่ธนาคารและระบบออกมา จะช่วยฟื้นฟูกลุ่มลูกหนี้กลุ่มนี้ให้กลับมาอย่างได้ยั่งยืนมากขึ้น  โดยในส่วนของธนาคาร ปีนี้พยายามรักษาระดับ NPL ไม่ให้เกิน 3.5% ส่วนปีหน้า คาดว่าหนี้เสียจะอยู่ในระดับใกล้เคียงปีนี้ ท่ามกลางความผันผวนที่ยังคงมีอยู่ ขณะที่การตั้งสำรองหนี้ยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่ายังอยู่ระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงภาวะปกติ แต่ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงสถานการณ์โควิด-19

 

นายผยง กล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตด้านสินเชื่อในปีหน้า ว่า น่าจะขยายตัวได้ราว 3-4% หรือประมาณ 1.5 เท่าของ GDP (การเติบโตทางเศรษฐกิจไทย) โดยการเติบโตของพอร์ตยังคงเน้นการปรับพอร์ตสินเชื่อให้มีความสมดุลมากขึ้น จากพอร์ตเดิมที่มีสัดส่วนสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ เช่น สินเชื่อโรงสีข้าว ซึ่งเกิดหนี้เสียถึง 6-7 หมื่นล้านบาท  ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อที่สมดุล ภายใต้การปล่อยสินเชื่อความเสี่ยงสูงจะต้องมีผลตอบแทนสูงด้วย และต้องมีกระบวนการติดตามสินเชื่อและบริหารจัดการตามระดับความเสี่ยงที่รับเข้ามาได้ด้วย  รวมถึงการปรับกระบวนการให้สินเชื่อแต่ละประเภทที่มีความเสี่ยงแตกต่างกันให้สมดุลมากขึ้น ซึ่งจะมุ่งไปสู่พอร์ตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ดี เช่นสินเชื่อรายยอ่ย สินเชื่อบ้าน สินเชื่อหมุนเวียน ฯลฯ

Copyrights © 2021 All Rights Reserved by Clubhoon.com